บาทอ่อน-ด้อยค่าเครื่องบิน ทุบกำไร Q1/67 การบินไทย วูบหมื่นล้าน เหลือสุทธิ 2.4 พันล้าน

การบินไทย

“การบินไทย” เผยผลประกอบการไตรมาส 1/67 มีรายได้รวม 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีกำไรจากการดำเนินงาน 1.1 หมื่นล้านบาท แจง “อัตราแลกเปลี่ยน-บันทึกด้อยค่าเครื่องบินและสินทรัพย์” ทุบกำไรสุทธิเหลือเพียง 2,423 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 80.7%

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 ว่าบริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสารด้วยบริการเที่ยวบินขนส่งที่เพิ่มขึ้น และความต้องการเดินทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

ชาย เอี่ยมศิริ
ชาย เอี่ยมศิริ

โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,407 ล้านบาท (22.5%) เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่ง จำนวนเที่ยวบิน จุดบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสาร ค่าบริการการบินในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินและอุปกรณ์ ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,959 ล้านบาท (15.0%)

นางสาวเฉิดโฉม เทอดสถีรศีกดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,608 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 4,036 ล้านบาท

Advertisment

โดยส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,372 ล้านบาท การด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท แต่มีรายการปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ 4,136 ล้านบาท กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 493 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 36 ล้านบาท

ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินจำนวน 14,054 ล้านบาท

“เฉพาะในส่วนรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็กว่า 5,000 ล้านบาท การด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียนอีกกว่า 3,000 ล้านบาท รวมแค่ 2 รายการนี้ก็ราว 9,000 ล้านบาท หรือเกือบ 10,000 ล้านบาทแล้ว”

Advertisment

ทั้งนี้ บริษัทมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินในไตรมาสที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 8 ลำ โดยเป็นการทยอยรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ที่จัดหาและนำมาปฏิบัติการบินระหว่างปี มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.8 ชั่วโมงต่อวัน

และมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.1% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 10.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งเฉลี่ยที่ 80.8% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.2%