ทปอ.แจงผลกระทบเลื่อน GAT/PAT 96 สนามสอบไม่ว่างติดกิจกรรมอื่น-สมัคร ม.1-4

เมื่อวันที่ 23 มกราคม นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 นั้นต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งคาดว่า กกต.จะประกาศตามกำหนดคือภายใน 5 วัน แต่เบื้องต้นได้มีการแจ้งไปยัง กกต.แล้ว ว่าขอให้วันเลือกตั้งไม่ตรงกับวันสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ทั้งการสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 16-17 มีนาคม การทดสอบทางการศึกษาสระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต วันที่ 2-3 มีนาคม ส่วนประเด็นที่เรียกร้องให้มีการย้ายวันสอบ วิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT กลับมาเป็นวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น เป็นเรื่องที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต้องไปพิจารณาว่า จะกลับมาได้หรือไม่ ซึ่งโดยหลักการตนคิดว่า สามารถเลื่อนกลับมาได้ แต่ยังต้องพิจารณาเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วยว่าจะคุ้มค่าหรือไม่หากเลื่อนกลับไป ทั้งสถานที่ที่ต้องมีการเตรียมพร้อม อีกทั้งการเตรียมตัวของนักเรียนซึ่งบางคนอาจจองที่พัก และตั๋วเดินทางไว้ล่วงหน้าแล้ว เป็นต้น

นางเพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร รองเลขาธิการ ทปอ.กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการการคัดเลือกกลางด้วยระบบทีแคส ที่มีนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็นประธาน ได้พิจารณาการบริหารกระบวนการสอบ GAT/PAT สรุปว่าในการจัดสอบจะมีหน่วยงานที่เป็นสนามสอบ 5 สังกัด จำนวน 212 แห่ง การเลือกสนามสอบเป็นความต้องการของนักเรียน โดยนักเรียนเลือกสนามสอบได้ตั้งแต่วันสมัคร ขณะที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ในการจัดทำตันฉบับ การพ้มพ์ ทั้งข้อสอบปกติและข้อสอบอักษรเบลล์ รวมถึงต้องวางแผนระบบการขนส่งข้อสอบไปยังสถานที่สอบ การปรับแก้ไขข้อมูลในระบบการค้นหาสนามสอบ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการตรวจเยี่ยมสามารถทราบข้อมูล และตั้งประธานสนามสอบที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการสนามสอบ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา

นางเพ็ญรัตน์กล่าวต่อว่าส่วนผลกระทบถ้ามีการประกาศเลื่อนการสอบ GAT/PAT กลับไปตามกำหนดเดิมวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ คือ 1.มีจำนวนสนามสอบ 96 แห่งที่ไม่สามารถรับเป็นสนามสอบได้ เนื่องจากมีกิจกรรมอื่นที่กำหนดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ได้แก่ การจัดสอบปลายภาคในระดับชั้นอื่น การรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2.นักเรียนเข้าค่ายฝึกวิชาทหาร จำนวน 2,000 คน ถ้ามีการเปลี่ยนสนามสอบเด็กกลุ่มนี้อาจจะร้องเรียน เพราะได้รับผลกระทบ 3.กรณีสนามสอบเปลี่ยน สทศ.ต้องส่งข้อมูลให้นักเรียนทราบ ซึ่ง สทศ.ไม่มั่นใจว่านักเรียนจะได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงหรือไม่ และอาจมีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสนามสอบไปสนามสอบอื่นที่ตนเองไม่ได้เลือกไว้ เช่น สนามสอบไกลบ้าน หรือไกลจากที่พักที่จองไว้ล่วงหน้า 4.บางจังหวัดมีสนามสอบเพียงแห่งเดียว การเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาสนามสอบใหม่ในกรณีที่สนามสอบเดิมไม่ว่าง 5.กรรมการคุมสอบอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะไปทับซ้อนกิจกรรมที่ได้มีการวางแผนไว้แล้ว สทศ.ไม่มั่นใจว่าจะสามารถหากรรมการคุมสอบทดแทนได้ทันเวลา และ 6.ผู้สมัครบางส่วนอาจจะจองการเดินทาง และที่พักไว้เรียบร้อยแล้ว การเปลี่ยนแปลงวันสอบอาจส่งผลกระทบในเรื่องค่าใช้จ่าย

“ส่วนข้อดีของจัดสอบตามเดิมคือวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ นักเรียนจะได้สอบในสนามสอบที่ตนเองเลือก และทราบข้อมูลรายละเอียดของสนามสอบเรียบร้อยแล้ว หลังการสอบ GAT/PAT นักเรียนมีเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ที่จะเตรียมดูหนังสือเพื่อสอบโอเน็ต และสอบ 9 วิชาสามัญ นอกจากนี้นักเรียนส่วนใหญ่ได้มีการวางแผนกิจกรรมต่างๆ ไว้แล้ว และเตรียมความพร้อมในการเข้าสอบตามกำหนดแล้ว” นางเพ็ญรัตน์กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์