บทบาท Tech Transfer มหา’ลัยโลกต่อยอดวิจัยสู่พาณิชย์

หลังจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการ “Cambridge Berkeley Stanford Tech Transfer Thailand 2019” ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย

ล่าสุดได้มีการจัดการประชุมสัมมนาเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีผู้เชี่ยวชาญจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ได้แก่ “ดร.แครอล มิมูร่า” ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี และผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญา และอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์, “แคเทอรีน คู” กรรมการบริหาร สำนักงานใบอนุญาตเทคโนโลยีและสัญญาจ้างอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ “ดร.พอล เจ. ซีไบรต์” รองผู้อำนวยการ เคมบริดจ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มาร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยน

เบื้องต้น “ดร.แครอล มิมูร่า” กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้เบิร์กลีย์มีความต่างกับที่อื่นในด้านเทคทรานส์เฟอร์ คือการคิดค้นนวัตกรรมควบคู่ไปกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งนำมาสู่ความสำเร็จที่หลากหลายด้วยกัน โดยหนึ่งในนั้นคือการคิดค้นแอนติบอดีรักษามะเร็ง และเมื่อไม่นานนี้งานชิ้นนี้ได้รางวัลโนเบลพีซไพรซ์มาแล้ว

“กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลังจากที่มีการวางเส้นทางในการเดินที่ชัดเจน โดยเฉพาะการคิดค้นนวัตกรรม ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีมาต่อยอด จนสร้างประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยกว่า 87.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีบริษัทเอกชนเข้ามาสนับสนุนทุนวิจัยมากมาย ทั้ง ๆ ที่แต่เดิมมีเพียงแค่ 100 กว่าบริษัทเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีกว่า 1,300 บริษัทที่เห็นความสำคัญ”

“หากถามว่าบทบาทของเทคโนโลยีจะสามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษา และความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้อย่างไร คงต้องบอกว่าจริง ๆ แล้วมหาวิทยาลัยพยายามพัฒนาในทุกส่วน ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และอาจารย์มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทำให้สังคมนั้น ๆ ดีขึ้น อย่างในบางสาขาวิชาเรียนที่มีอาจารย์เป็นนักวิจัย เขาก็ยังมีความคิดที่เป็นนักธุรกิจเจือปนอยู่ด้วย”

ตรงนี้จะช่วยสร้างนวัตกรรม เพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นเทคโนโลยี จนในที่สุดจึงจัดตั้งออกมาในรูปแบบของบริษัท และถูกซื้อไปโดยเอกชน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวัฒนธรรม จุดประกายให้ผู้ที่เข้ามาภายหลังสามารถต่อยอดนวัตกรรม หรืองานที่มีอยู่เดิมให้เติบโตไปอย่างมั่นคง

ดังนั้น หากย้อนกลับมามองในประเทศไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการแข่งขันในโลกยุคปัจจุบัน “ดร.แครอล มิมูร่า” บอกว่าสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ควรมีหน่วยงานที่ช่วยผลักดันให้บุคลากรภายใน และนักศึกษาคิดค้น วิจัย สร้างงานนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในเชิงพาณิชย์ และมีประโยชน์กับสังคม อย่างที่เบิร์กลีย์ในเวลานี้ คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกว่า 70-75%เป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการต่าง ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

นอกจากการให้ความรู้ทางด้านวิชาการ การค้นคว้าวิจัยแล้ว การให้บริการกับสังคมก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของสถาบัน อย่างการสนับสนุน ส่งเสริมให้นักศึกษาก่อตั้งธุรกิจสตาร์ตอัพ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เบิร์กลีย์ให้บริการสังคม โดยมีกระบวนการการจัดการช่วยเหลือผู้อยากจะเป็นเจ้าของกิจการ ทั้งการให้คำปรึกษาทางกฎหมายฟรี เพื่อช่วยดำเนินงานด้านกฎหมายธุรกิจที่สำคัญ ๆ รวมถึงการจัดหาทุน และการมีหน่วยสนับสนุนให้สตาร์ตอัพดำเนินธุรกิจลุล่วงไปด้วยดี

“ปัจจุบันเรามีสตาร์ตอัพที่อยู่ในความดูแลกว่า 218 บริษัท มีนวัตกรรมที่ถูกนำไปใช้ในเชิงพานิชย์กว่า 600 ชิ้น มีนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรไปแล้ว 800 กว่าชิ้นและมากกว่า 100 บริษัทเอกชนที่นำนวัตกรรมเหล่านี้ไปต่อยอดในธุรกิจของตนตลอดจนมีอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่กว่า 17 แห่ง ที่มอบทุนสนับสนุนการวิจัยแบบให้เปล่า”

“สำหรับจุดแข็งที่บริษัทเอกชนเข้าสนับสนุนงานวิจัย ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องของการสื่อสาร และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะเบิร์กลีย์เห็นในสิ่งที่ธุรกิจนั้น ๆ ขาด หรือสิ่งต้องปรับปรุงแก้ไข และหาโซลูชั่นเพื่อไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากมหาวิทยาลัยในอดีตที่ผ่านมาที่จะนำเสนองานวิจัยให้กับบริษัท โดยบางครั้งอาจจะไม่ได้ตรงกับความต้องการ หรือไม่มีศักยภาพในเชิงธุรกิจ”

อีกทั้งเบิร์กลีย์เองมีการนำเสนองานวิจัย โครงการพัฒนานวัตกรรมที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะเกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงสังคม เรียกว่าร่วมกันสร้างนวัตกรรมสำหรับอนาคต ที่จะเน้นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอก ตลอดจนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในการเข้ามาเสริมจุดแข็งของกันและกัน อย่างไรก็ตาม หากสถาบันการศึกษาไทยช่วยเหลือสตาร์ตอัพให้สามารถคิดค้นต่อยอดนวัตกรรม งานวิจัยในเชิงพาณิชย์ได้ จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวทันโลกที่มีการแข่งขัน และเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่ “แคเทอรีน คู” กล่าวเสริมว่าสำหรับความสำเร็จของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่เกี่ยวข้องกับเทคทรานส์เฟอร์มีอยู่อย่างหลากหลาย แต่จะขอยกตัวอย่าง 2 เคสที่คนทั่วโลกน่าจะรู้จักคือ Google ซึ่งก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นดังปัจจุบัน เดิมมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการค้นหาอยู่แล้ว แต่เพียงยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดี สแตนฟอร์ดจึงพยายามช่วยพัฒนาต่อยอดให้ดีกว่าเดิม แต่ไม่มีผู้สนใจ จนเมื่อ “แลร์รี เพจ” และเพื่อนเห็นโอกาสในเรื่องนี้ จึงก่อตั้งบริษัท Google ขึ้นมา โดยสแตนฟอร์ดเป็นผู้ช่วยจัดหาทุน จนทำให้องค์กรเติบใหญ่ และประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องของการคิดค้นมิวสิกชิปที่เกี่ยวข้องกับเสียงเครื่องดนตรี ซึ่งแต่แรกนวัตกรรมชิ้นนี้ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งยามาฮ่ามาติดต่อ และขอลิขสิทธิ์ไปพัฒนาต่อ จน 7 ปีผ่านไปจึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ในปัจจุบันติดอยู่ในเครื่องเปียโนทุก ๆ เครื่องทั่วโลก

“ส่วนเรื่องของผลตอบแทน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคทรานส์เฟอร์ของสแตนฟอร์ดจะอยู่ประมาณ 33% ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์ที่มหาวิทยาลัยได้มาปัจจุบันอยู่ที่ 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หากมองในเรื่องตัวเงินอาจดูไม่มาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสุขใจของผู้คิดค้น ผู้ที่ศึกษา เพราะบางครั้งสิ่งที่คิดขึ้นมานั้น ต้องการทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด”

“ดร.พอล เจ. ซีไบรต์” กล่าวเสริมว่าความสำเร็จเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ผ่านมาจะเห็นได้จากมูลค่าที่สามารถสร้างได้จากนวัตกรรม ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ในวงกว้าง อย่างเรื่องแอนติบอดีที่มีการคิดค้นในปี 1984 จนนำไปสู่ตลาดจริงในปี 2000 ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

“การศึกษาในโลกยุคปัจจุบัน และในอนาคตต้องเน้นให้เด็กแก้ปัญหาเป็น และรู้จักคำว่าลอง และเสี่ยง โดยเริ่มต้นในนักเรียนทุกวัย ทุกระดับชั้น เพราะการเป็นเจ้าของกิจการหรือการริเริ่มสร้างธุรกิจ สร้างนวัตกรรมล้วนแล้วที่ต้องลองและเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและความเสี่ยงจะนำไปสู่การทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา”

นับเป็นการสะท้อนมุมมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน และการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี ตลอดจนนวัตกรรมสมัยใหม่สู่ระบบการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!