ถอดมุมคิด “อุษา สมบูรณ์” “ร.ร.นานาชาติขยายตัวปีละ 7-8 %”

ธุรกิจการศึกษาคึกคักสวนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติที่ขยายตัวต่อเนื่อง เฉพาะเขตกรุงเทพฯเรียกได้ว่ามีอยู่เกือบทุกหัวถนน บรรดาผู้ปกครองที่มีรายได้ระดับกลางจนถึงระดับบน ต่างเชื่อมั่นในหลักสูตรที่คัดสรรจากต่างประเทศว่ามีคุณภาพ และยังทำให้เด็กมีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษที่ดี รวมถึงเน้นไปที่การเรียนอย่างเข้าใจมากกว่าท่องจำ โรงเรียนนานาชาติจึงเป็นตัวเลือกในอันดับต้น ๆ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “อุษา สมบูรณ์” นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ถึงเทรนด์ธุรกิจการศึกษาของไทยที่ว่าทำไมโรงเรียนนานาชาติถึงมาแรงอย่างมาก ?

เบื้องต้น “อุษา” เล่าให้ฟังถึงภาพรวมของโรงเรียนนานาชาติขณะนี้ว่า ปัจจุบันมีการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แม้แต่โรงเรียนไทยยังต้องการเปิดสอนภาษาอังกฤษ จากปรากฏการณ์ดังกล่าวมองว่าเป็นโอกาสของเด็กไทย ที่จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น และอาจจะส่งผลให้ค่าเทอมถูกปรับลดลงมา เพราะการแข่งขัน แต่ขณะเดียวกัน อาจส่งผลด้านต้นทุนคือเงินเดือนครูต่างชาติ ที่ถือเป็นต้นทุนหลักปรับเพิ่มขึ้นได้ จากการที่ครูต่างชาติเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก

“เหตุผลที่โรงเรียนนานาชาติยังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะขณะนี้มีอัตราค่าเทอมหลายระดับ โดยเฉพาะตลาดล่างที่เริ่มจะขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่มีค่าเทอมค่อนข้างแพง แต่มีคุณภาพยังเป็นที่ต้องการ อย่างเช่น โรงเรียนบางกอกพัฒนาฯ ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ผ่านมาจนถึงต้นปี 2562 มีโรงเรียนนานาชาติเกิดใหม่ 2-3 แห่ง ยกตัวอย่างโรงเรียนนานาชาติรักบี้ และโรงเรียนเวลลิงตัน ที่เป็นหลักสูตรไฮคลาสจากประเทศอังกฤษ มีการผ่อนปรนบางเงื่อนไขที่ใช้พิจารณาการรับเข้าเรียนให้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา”

“เมื่อก่อนการเข้าเรียนนานาชาติจะเข้ายาก แต่เมื่อจำนวนโรงเรียนมากขึ้น ตามมาด้วยการแข่งขันในตลาด ทำให้แต่ละโรงเรียนต้องคิดค้นหลักสูตรหรืออื่น ๆ ที่จะมาดึงดูดนักเรียนเข้าเรียนมากขึ้น เดิมมีการกำหนดสัดส่วนระหว่างเด็กไทยและเด็กต่างชาติไว้ชัดเจนที่ 50 : 50 แต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่เป๊ะเท่านี้ การแข่งขันในตลาดถือเป็นเรื่องดีแต่อยากให้มองถึงคุณภาพและสิ่งที่เด็ก ๆ จะได้รับจากโรงเรียนมากกว่า”

ดร.อุษา” ฉายภาพลงลึกไปอีกว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีโรงเรียนนานาชาติเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมโรงเรียนนานาชาติ เพิ่มขึ้น 7-8% จากเดิมที่มีสมาชิกเพียง 94 แห่ง ในช่วงเริ่มต้นจนถึงขณะนี้เพิ่มจำนวนอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 140 แห่ง ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีการเปิดโรงเรียนใหม่เพิ่มอีก แต่เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นของโรงเรียนนานาชาติ จะเน้นที่คุณภาพสูงมากตามหลักสูตรที่ซื้อมาจากต่างประเทศ เมื่ออัตราการเกิดต่ำ ทำให้กำลังซื้อสูงมากขึ้น แต่ละโรงเรียนจึงต้องเข้มข้นมากขึ้นในเรื่องของคุณภาพ จากนั้นก็มีการลงทุนใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น เช่น กลุ่มคันทรีกรุ๊ปและกลุ่มสหพัฒน์

“เมื่อมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา จึงต้องมีคุณภาพสูงมากกว่ารายเดิมที่อยู่ในตลาด นั่นหมายถึงต้นทุนของเขาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่ต้องยอมรับอีกอย่างคือโลกในปัจจุบันเปลี่ยนไปเร็วมาก รวมถึงวิธีคิดของคนก็เปลี่ยนด้วย สิ่งที่ รร.นานาชาติสอนเด็กเป็นวิธีปฏิบัติ (application) ไม่ใช่การท่องจำเพื่อให้ได้ความรู้ตามหลักสูตรอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ตลาดนี้ยังขยายได้อีกมาก หากว่าผู้ปกครองยังให้ความสำคัญกับการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

เทรนด์ของโรงเรียนนานาชาติในไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น “อุษา” บอกว่าสังคมไทยจะสนใจลงทุนเพื่อการศึกษามากขึ้น เท่าที่มองสภาพตลาดในขณะนี้พบว่าโรงเรียนนานาชาติ ประเภทอยู่ประจำ หรือ boarding school ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 25 แห่ง ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน (Concordian International School) ที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง และเป็นที่สนใจของคนจีนเป็นอย่างมาก เพราะเดินทางไม่ไกลมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งเด็กไปเรียนที่อังกฤษ และที่อื่น ๆ

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนจีนจะสนใจโรงเรียนนานาชาติในไทยเป็นจำนวนมาก แต่ในบางโรงเรียนจะมีกฎ กติกาที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ คืออาจจะรับนักเรียนจีนน้อย เพราะสภาพสังคมมีความเป็นอยู่แตกต่างกัน และที่สำคัญต้องการคงความเป็นโรงเรียนนานาชาติเอาไว้”

นอกจากนั้น “อุษา” ยังให้ข้อมูลสำหรับมูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบันอยู่ที่ 60,000-70,000 ล้านบาท และยังคงมีการขยายตัวอยู่ที่ 7-8% ต่อปี และการขยายตัวดังกล่าวก็เป็นได้ 3 ทางคือ

1) โรงเรียนที่เปิดใหม่

2) โรงเรียนเดิมที่ขยายเพิ่มเติม

และ 3) การเข้าไปซื้อกิจการในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ในบางรายที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จึงรับเพิ่มไม่ได้ จึงเลือกใช้วิธี”ขยายแคมปัส” แทน ยกตัวอย่าง Bangkok International Preparatory & Secondary School (Bangkok Prep) และ St. Andrews International School

“ส่วนของโรงเรียนนานาชาติที่เกิดขึ้นใหม่ถือว่ามีศักยภาพมาก เช่น Brighton College International School Bangkok และ Wellington College International Bangkok ที่คาดว่าจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ และในส่วนที่เปิดให้บริการไปแล้วคือโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ที่จังหวัดชลบุรี มีนักเรียนกว่า450 คน ซึ่งเป้าหมายของรักบี้คือการรองรับความต้องการในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern EconomicCorridor : EEC ในอีก 10 ปีข้างหน้าและเมื่อมองไปที่โรงเรียนอื่น ๆในพื้นที่เดียวกันก็พบว่า มีนักเรียนเต็มแล้ว นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนบางรายมีที่ดินอยู่แล้วแต่รอภาพตลาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวหรือไม่ หากตลาดยังเติบโตได้จะมีการลงทุนสร้างโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่เกิดขึ้นอีกแน่นอน”

“ตอนนี้ยอดเด็กไทยมาเรียน โรงเรียนนานาชาติสูงมาก ส่วนนักเรียนชาวต่างชาติก็มีโยกย้ายกันไป ถ้าเมื่อก่อนจะเป็นเด็กอเมริกัน ยุโรป ตอนนี้จะเป็นเกาหลี จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา เพราะพวกนี้ชอบเมืองไทยอยู่แล้ว อยากมาอยู่บ้านเรา คนมีฐานะในบ้านเขามาอยู่บ้านเราได้สบาย”

ตลาดการศึกษาที่การแข่งขันสูงมากนั้น สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือโรงเรียนไทยจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะหากไม่มีการปรับตัว สิ่งที่ตามมาคือจะไม่เข้าใจกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ โรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่เน้นเรื่อง globalization และ environmental awareness ซึ่งเป็นยุคที่ “ปลาเร็ว” กินทั้งปลาใหญ่และปลาเล็ก จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรเพื่อต่อยอดธุรกิจการศึกษาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคต