“เชฟรอนฯ” ดันเครือข่าย PLC กำจัดจุดอ่อนในห้องเรียน

ปัญหาในภาคการศึกษาปัจจุบันมีหลากเรื่องราวที่ต้องได้รับการแก้ไข ถ้ามองแค่พื้นฐานการเรียนของเด็ก คือ อ่านหนังสือไม่แตก และเข้าใจเนื้อหาได้ไม่เต็มที่ องค์ประกอบสำคัญอย่าง “ครู” จึงต้องเป็นเสมือนเครื่องมือแก้ปัญหาข้างต้น ฉะนั้น ในยุคนี้ครูจึงต้องเป็นมากกว่าครูผู้สอน โดยอาจต้องเป็นทั้งโค้ชและเพื่อนให้กับนักเรียน เพื่อจะได้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริง

เพราะแต่ละคนมีสมรรถนะที่จะเข้าใจในเนื้อหาแตกต่างกัน สำหรับเรื่องนี้หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้เกิดคำว่า “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” หรือ “PLC (Professional Learning Community)” จากความร่วมมือของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมูลนิธิคีนันแห่งเอเชียที่ร่วมกันขยายรูปแบบ PLC ไปยังสถานศึกษาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนผ่านโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต

โดยปีนี้ทั้งคุรุสภา เชฟรอนฯ และมูลนิธิคีนันฯ มุ่งกระจายเครือข่ายให้เข้าสู่การเป็นสถานศึกษาที่ใช้ PLC เข้ามาจับปัญหาของผู้เรียน รวมถึงได้ลงพื้นที่ในจังหวัดสงขลาที่ได้วางสารตั้งต้น PLC ลงไปแล้วก่อนหน้านี้มีการพัฒนาไปอย่างไร สมรรถนะของครูผู้สอนและนักเรียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งยังมีการเปิดเวทีกลางเพื่อสร้างความเข้าใจคอนเซ็ปต์ของ PLC ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย

“รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร” ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ระบุว่า ภายหลังจากที่สำรวจเครือข่ายโรงเรียนที่นำรูปแบบ PLC ไปใช้พบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากคอนเซ็ปต์ของ PLC เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รูปแบบ PLC คือการลงลึกไปจนถึงพฤติกรรมเด็กเพื่อให้รู้ปัญหาที่แท้จริงมาจากครูหรือผู้เรียน เจาะลงลึกและต้องสอดคล้องกับ 13 ตัวชี้วัดวิทยฐานะใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้

“เราต้องการกระตุ้นเพื่อนครูให้เกิดการ change ในห้องเรียนของตัวเอง และทำให้การพัฒนาครูไม่ได้อยู่เพียงบนแผ่นกระดาษเท่านั้น วันนี้ภายในห้องเรียนต้องโชว์ให้ได้เห็นว่าคุณครูนั้นเก่งอย่างไร และเด็กเก่งอย่างไรในปัจจุบัน แต่หากนักเรียนมีปัญหาเราต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร จุดอ่อนจุดแข็งจะแก้และพัฒนาอย่างไร”

ผู้เชี่ยวชาญอย่าง “รศ.ดร.มนตรี” ยังบอกอีกว่า จุดเริ่มต้นสำคัญของรูปแบบ PLC คือปัญหาและคุณภาพของการเรียนการสอนมาเป็น “ตัวตั้ง” เพราะสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนถึงสมรรถนะของผู้เรียน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 สถานศึกษาต่าง ๆ ต้องจัดตั้งทีมขึ้นมา และอีกส่วนที่สำคัญคือ ผู้อำนวยการของแต่ละสถานศึกษาจะต้องมีความเป็นผู้นำ (leadership)

ที่ต้อง “วิเคราะห์เชิงลึก” ให้ได้ เมื่อรู้ว่ามีปัญหาอย่างไรก็จะเข้าสู่อีกขั้นตอนสำคัญ คือ “การออกแบบการสอน” ที่ถือว่ายากที่สุดในการดำเนินการ

“เพราะปัญหาของแต่ละที่มีความแตกต่างกัน ฉะนั้น กลยุทธ์ในการออกแบบเครื่องมือที่จะนำมาแก้ปัญหาคือจะต้องเป็นนวัตกรรมของโรงเรียนนั้น ๆ ครูจะต้องสร้างนวัตกรรมของตัวเองให้ได้พร้อมกับเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งหากในอนาคตมีสถานศึกษาที่มีปัญหาคล้ายกันจะสามารถแชร์ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาระหว่างกันได้ด้วย”

ตามขั้นตอนจากจุดเริ่มต้น คือ มองเห็นปัญหา ออกแบบเครื่องมือแล้ว ขั้นตอนจากนี้คือการเปิดห้องเรียนให้สังเกตการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ หรือ open class approach เพื่อให้รู้ว่าเครื่องมือที่ออกแบบไปนั้นเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เรียนได้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อะไรคือจุดอ่อน อยู่ที่ “ครูหรือว่าเด็ก” และเก็บจุดอ่อนเหล่านั้นกลับมาออกแบบเครื่องมือใหม่ (redesign) ทั้งนี้ ตามการทดลองคุรุสภาที่ผ่านมา 3 ปี ในจำนวน 1 วงรอบ

หากทำตามขั้นตอนข้างต้นจะใช้เวลาอยู่ที่ 4-5 สัปดาห์/วงรอบ ถือว่าได้ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คือ 50 ชั่วโมงต่อปี และหากทั้ง 3 วงรอบอาจจะทำเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง และอาจจะทำได้จนถึง 6 วงรอบ ที่ “รศ.ดร.มนตรี” บอกว่า เสมือนการทำ “action research” นั่นเอง

ผลของรูปแบบ PLC ที่เห็นชัดเจน คือ สามารถสร้างเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพได้ถึง 108 เครือข่าย จาก 504 โรงเรียนทั่วประเทศ และยังได้เกิดความร่วมมือกับ 15 มหาวิทยาลัยที่เข้ามาร่วมทำหน้าที่ “มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง” ให้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานรอบพื้นที่อีกด้วย

สำหรับความคืบหน้าปีที่ 5 โครงการสนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ได้เดินหน้าขยายความร่วมมือ “รัฐร่วมเอกชน” ต่อยอดจาก PLC แลกเปลี่ยนความรู้ และแนวทางปฏิบัติ สร้างเครือข่ายต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนฯเช่นเดิม เพื่อให้โครงข่าย PLC เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น และแบ่งเครือข่ายออกเป็น 3 ระดับ คือ

1) เครือข่ายระดับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นการรวมตัวโดยกลุ่มครู

2) เครือข่ายระดับหน่วยงานทางการศึกษา หรือระดับโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการเป็นส่วนขับเคลื่อนในพื้นที่ใกล้เคียง

และ 3) เครือข่ายระดับกลุ่มสมาชิกวิชาชีพครูที่มีชมรมหรือสมาคม เป็นต้น

โดยทุนนี้สถานศึกษาที่สนใจสามารถนำเสนอ best practices ที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ คือ การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านคณิตศาสตร์ ทักษะการเรียนรู้หนังสือ คุณลักษณะของผู้เรียน จรรยาบรรณวิชาชีพครู ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และการเป็นผู้นำทางการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนเครือข่าย PLC แบบไตรภาคีที่เป็นรูปแบบใหม่ที่ทั้งเชฟรอนฯ และคุรุสภาร่วมมือกันพัฒนาต้นแบบ school improvement network เพื่อร่วมมือกันแบบพันธสัญญาด้วยการจัดสรรทุนสนับสนุนเครือข่าย PLC ที่เกิดขึ้นจากการลงขันของภาคี 3 ฝ่าย คือ คุรุสภา โครงการ และหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ขอทุน ที่จะต้องสร้างให้เกิดเครือข่ายวิชาชีพครูให้ครบวงจรมากขึ้น

ทั้งศึกษานิเทศก์ หน่วยงานต้นสังกัด ผู้อำนวยการไปจนถึงครูการร่วมมือแบบไตรภาคีนี้จะดำเนินการอย่างเข้มข้นในปีที่ 5 โดยคุรุสภาจะจัดสรรงบประมาณรวม 6.5 ล้านบาท และร่วมด้วยโครงการสนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต จะจัดงบฯสนับสนุนอีก 5.5 ล้านบาท โดยคาดว่าความร่วมมือดังกล่าวของทั้ง 3 ส่วนนี้จะสามารถขยายเครือข่ายมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงเพิ่มจากเดิม 15 มหาวิทยาลัย เป็น 30 มหาวิทยาลัย

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคุรุสภา-เชฟรอนฯ และมูลนิธิคีนันฯ ที่จะพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวทันกับพฤติกรรมของผู้เรียน ทลายข้อจำกัดในการเข้าถึงเข้าใจปัญหาของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะของทั้งครูและนักเรียนให้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น