“มหิดล” สร้างระบบชี้วัด หนุน ม.สุขภาพในอาเซียน

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ASEAN University Network หรือ AUN เป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน จำนวน 30 สถาบันใน 10 ประเทศ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้รับการศึกษา การอบรม มีสุขภาพสมบูรณ์ และมีฐานะที่มั่นคง โดยผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ

สำหรับล่าสุด AUN เดินหน้าเสริมสร้างความสามารถของมหาวิทยาลัยสมาชิก ด้วยการเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพตามกรอบ Healthy University Framework ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อต่อยอดความร่วมมือการส่งเสริมมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนให้พัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาพ

“ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ” ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน (ASEAN University Network :AUN) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการดำเนินงานภายใต้ AUN 16 เครือข่ายโดยที่ประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนจะมีการพิจารณามหาวิทยาลัยสมาชิกที่มีความพร้อม และความเชี่ยวชาญมาทำหน้าที่เลขานุการของเครือข่ายนั้น ๆซึ่งได้มีการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำหน้าที่เป็นเลขานุการของเครือข่ายเฉพาะทางด้าน AUN Human Rights Education Network (AUN-HREN) และ AUN-Health Promotion Network (AUN-HPN)

“ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ” รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี 2560 มหิดลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายจัดทำกรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพ เพื่อกำหนดเป็นทิศทาง และมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 22 ประการ จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในด้านต่าง ๆ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนกว่าร้อยละ 70

“เราจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพแก่มหาวิทยาลัยสมาชิกทั้ง 30 แห่งในภูมิภาคอาเซียน และในวันนี้เครือข่าย AUN-HPN มีการประชุมวิชาการด้านการควบคุมกำกับ และประเมินผลงานสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัย โดยมีผู้บริหารและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน”

อีกก้าวที่สำคัญในฐานะเลขานุการเครือข่าย AUN HPN คือ การจัดทำระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานมหาวิทยาลัยสุขภาพ ที่เรียกว่าASEAN Rating on Health University หรือ ARHU เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตามกรอบแนวคิด ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อมูลย้อนกลับเพื่อพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพในระดับมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต

“ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา” รักษาการผู้อำนวยการสำนักภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส.ทำหน้าที่ส่งเสริมบทบาทมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาให้ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพในเชิงกลไก ผ่านการสนับสนุนโครงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยในเครือข่าย AUN-HPN ของ ม.มหิดล มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

“งานภายใต้ความร่วมมือกับมหิดล เช่น กรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพ โดยอาศัยมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ 22 ประการ, พัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้นำด้านสร้างเสริมสุขภาพ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านวิธีการวิจัยด้านสร้างเสริมสุขภาพ และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานมหาวิทยาลัยสุขภาพ,ความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยด้านสร้างเสริมสุขภาพระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิกเครือข่ายในหลายประเด็น, ขยายเครือข่ายและแนวคิดในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยสุขภาพไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคในประเทศ”

แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพจะถูกขยายไปสู่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งสู่การลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จนนำไปสู่การมีสุขภาพดีของประชาชนต่อไป