ม.เอกชน ดิ้น แจกทุนฟรี ชิงนศ.ตัดหน้า TCAS

มหา”ลัยเปิดศึกชิงนักศึกษาปี”63 งัดกลยุทธ์ถล่มแคมเปญ แจกทุนเรียนฟรีเพียบ ปรับลดเกรดเฉลี่ย ดึงธุรกิจ บริษัทใหญ่ การันตีเรียนจบมีงานทำ สถาบันเอกชนแย่งเค้กเด็กเกรดรอง ยอมเสียมารยาทเปิดรับก่อน TCAS กระทรวงอุดมศึกษาฯเรียกเตือน มข.ยกเลิกเพดานรับ น.ศ.รอบแรก

แหล่งข่าวในแวดวงการศึกษาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจการศึกษายังคงแข่งขันสูง มหาวิทยาลัยงัดกลยุทธ์มาสู้กันทุกทาง โดยเฉพาะในส่วนนักศึกษาเกรดรองลงมา หลายสถาบันถึงกับเปิดรับสมัครก่อนที่ขั้นตอนของ TCAS จะเริ่มขึ้น จนกระทั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมยังต้อง “เรียกเตือน” แบบไม่เป็นทางการว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่อง “ผิดมารยาท” รวมถึงในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต่างยอมรับในกฎ กติกา มารยาทร่วมกันว่าการเปิดรับสมัครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต้องสอดคล้องกับ TCAS ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นคือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ล้วนเดินด้วยเกมกลยุทธ์ที่แตกต่างตามจุดแข็งของแต่ละสถาบัน คือ

1) สร้างหลักสูตรที่มีความเฉพาะทาง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

2) เกรดเฉลี่ยเพียง 2.0 สามารถสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรพยาบาลได้ (จากเดิมที่กำหนดเกรดเฉลี่ยไว้ที่ 2.50 ขึ้นไป)

3) ไม่กำหนดระดับเกรดเฉลี่ยในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล

4) ดึงพันธมิตรภาคเอกชนที่มีโครงการกับภาครัฐ อย่างเช่น โครงการ “บัณฑิตพรีเมี่ยม” ด้วยการให้ทุนเรียนฟรีแบบ 100% การันตีเรียนจบแล้วมีงานรองรับแน่นอน

5) การให้ทุนการศึกษา ในบางสถาบันจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น การเพิ่มสิทธิพิเศษ สำหรับผู้ที่มีเกรดเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไปได้รับทุนเพิ่มเติมอีก 30% เรียนฟรี 100% หรือในกรณีที่มีเกรดเฉลี่ย 3.00-3.49 ได้รับทุนเพิ่มเติมอีก 25% เป็นต้น

6) จัดหลักสูตรการเรียนการสอนพิเศษ ที่ไม่มีในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐ

และ 7) นักศึกษาหรือผู้ปกครองสามารถชำระค่าเทอมผ่านบัตรเครดิต กับสถาบันทางการเงินที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สามารถผ่อนชำระได้ 3 เดือนดอกเบี้ย 0% เป็นต้น

“ยอมเสียมารยาทเพื่อให้ได้จำนวนนักศึกษามากขึ้น อย่างรอบแรกของ TCAS ต้องเรียกว่ารอบเด็กเก่งที่เป็นตลาดบน ส่วนใหญ่เลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐเท่านั้น พวกเขาจะไม่มองมหาวิทยาลัยเอกชน ขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดกลาง และขนาดเล็กก็ตัดทิ้งได้เลย มหา”ลัยเหล่านี้จึงเข้ามาทำตลาดเด็กในเกรดรองลงมาแทน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อย่างที่รู้ปัญหากันดีว่าปัจจุบันจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนเกิดผลกระทบทางธุรกิจในวงกว้างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะดึงนักศึกษาให้เข้ามาเรียนมากที่สุด”

แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมอีกว่า นอกเหนือจากนี้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มปรับตัวด้วยการขยายหลักสูตรเพื่อรองรับคน “วัยทำงาน” มากขึ้น ด้วยการพัฒนา “หลักสูตรเฉพาะทาง” เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก อย่างเช่น มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด(MBA) ที่เปิดหลักสูตรปริญญาโท ในกลุ่มวิชาเลือกใหม่คือ digital marketing ที่เน้นเสริมความรู้เฉพาะด้าน โดยใช้เวลาเรียน 1 วัน/สัปดาห์

นอกจากนี้ บางมหาวิทยาลัยยังใช้รูปแบบ “ดับเบิลดีกรี” โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในต่างประเทศ เรียนแค่ 1 แต่ได้ 2 ใบปริญญา รวมถึงการสร้างหลักสูตรรองรับอนาคต อย่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เปิดหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารไฮบริดยุคดิจิทัล, วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, การจัดการนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งล้วนแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจในศาสตร์ด้านการจัดการ และทางด้านนวัตกรรมดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับภาคธุรกิจ

รศ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากกรณีที่มีบางมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ประจำปี 2563 ก่อนที่การสอบ TCAS จะเริ่มขึ้นนั้น ในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมามีการหารือ และขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หากต้องการเปิดรับนักศึกษาก่อนตารางของ TCAS ให้ระบุให้ชัดเจนว่ารับตรง หรือเป็น TCAS เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม กฎ กติกา มารยาทที่มีอยู่นั้นถือเป็นข้อตกลงร่วมกันไว้แล้วว่าการรับนักศึกษาต้องสอดคล้องกับ TCAS ด้วย

สำหรับการประกาศกรอบเวลาของ TCAS จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคมนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ “ยกเลิกเพดาน” ในการรับนักศึกษาในรอบที่ 1 หรือการยื่นเอกสาร และรอบที่ 2 จากเดิมที่กำหนดเพดานรับนักศึกษาไว้ที่ 35% เนื่องจากตารางการเปิด-ปิด มหาวิทยาลัยแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จึงต้องรับสมัครนักศึกษาในรอบแรก ๆ ให้แล้วเสร็จ ในขณะเดียวกันก็ยังมีการเปิดรับโดยตรงเองด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับกรอบเวลาของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยรูปแบบ TCAS ประกอบด้วย รอบที่ 1 การยื่นเอกสาร ในช่วง 2 ธ.ค. 62-4 ก.พ. 63รอบที่ 2 โควตา ช่วง 6 ก.พ.-25 เม.ย. 63 รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน ช่วง 17 เม.ย.-19 พ.ค. 63 รอบที่ 4 แอดมิสชั่น ในช่วง 9 พ.ค.-8 มิ.ย. 63 และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ในช่วง 30 พ.ค.-17 มิ.ย. 63