NIA ปั้นเด็กไทยทุกช่วงวัย เก่งนวัตกรรมสู่เส้นทางสตาร์ตอัพ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ “NIA” เร่งพัฒนาเยาวชนไทยให้มีทักษะความสามารถ และนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น พร้อมวางโปรแกรมพัฒนาขีดความสามารถด้านดังกล่าวให้เป็นไปอย่างครอบคลุม เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา

“ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกร ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งสตาร์ตอัพให้เพิ่มมากขึ้นในประเทศนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งพัฒนาและบ่มเพาะอย่างจริงจัง คือ กลุ่มเยาวชน เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีความคิดที่แตกต่าง

“จะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเยาวชนไทยเริ่มมีความตื่นตัว และแสดงออกด้านดังกล่าวอย่างดีเยี่ยม สังเกตได้จากเวทีต่าง ๆ มีเยาวชนนำเสนอผลงาน ความคิด และความสามารถการผันตัวเป็นสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย หรือแม้แต่กระทั่งการเริ่มเรียนในหลักสูตรด้านนวัตกรรมทั้งใน และนอกสถานศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่หลายภาคส่วนควรหันมาให้ความสำคัญ”

ในฐานะ NIA เป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ จึงวางกรอบการพัฒนากลุ่มดังกล่าวอย่างครอบคลุม โดยแบ่งเป็นแต่ละระดับดังนี้ ระดับปฐมวัย-ระดับประถมศึกษา เน้นการสร้างให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในหัวใจสำคัญของการเป็นนวัตกร ภายใต้โปรแกรม STEAM4INNOVATOR ซึ่งจะจัดกิจกรรมในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันเด็กแห่งชาติ มหกรรมวิทยาศาสตร์ ผ่านรูปแบบฐานการเรียนรู้แบบง่ายไม่ซับซ้อน

นอกจากนี้ยังจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการขยายผล learning station ที่เคยทำไปแล้วสู่การทำนิทรรศการเคลื่อนที่ ด้วยการสอนผ่านไกด์บุ๊ก และสื่อการเรียนการสอนที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการวัดผลทักษะต่าง ๆ ตามหลักวิชาการ

ระดับมัธยมศึกษา ในปีที่ผ่านมา NIA มีการพัฒนาหลักสูตรที่ชื่อว่า STEAM4INNOVATOR @ SCHOOL ซึ่งได้เริ่มนำร่องที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โดยเปิดสอนเป็นห้องเรียนพิเศษในวันเสาร์ สอนเรื่องธุรกิจนวัตกรรมตลอด 12 สัปดาห์ ผ่านกระบวนการของ STEAM4INNOVATOR ตั้งแต่การค้นหาแรงบันดาลใจการคิดแผนธุรกิจเบื้องต้น การลงมือทำต้นแบบชิ้นงาน การนำชิ้นงานไปทดสอบหรือแม้แต่กระทั่งการพิตชิ่งจริงกับนักธุรกิจในปี 2563 ที่สำคัญ NIA ยังวางแผนขยายโครงการดังกล่าวด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมจากโรงเรียนอื่น ๆ เข้ามาร่วมเรียนรู้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR@ SCHOOL เพิ่มขึ้น แต่ยังคงใช้โรงเรียนสามเสนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการทำกิจกรรม โดยจะเริ่มเปิดคลาสในภาคการศึกษาปลายของปี 2563

ระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา สำหรับในกลุ่มนี้ต้องให้การส่งเสริม และสนับสนุนในระดับที่เข้มข้น เนื่องจากเป็นวัยที่ใกล้ออกไปทำงานจริง โดย NIA มีหลากหลายโปรแกรมเพื่อพัฒนาเยาวชนในกลุ่มนี้ เช่น โครงการ FOUNDER AP-PRENTICE ซึ่งเป็นการจับคู่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่จบการศึกษาใหม่รุ่นละประมาณ 30 ราย กับผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรม เพื่อให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ และทดลองทำงานจริง

“ดร.พันธุ์อาจ” อธิบายต่อว่า NIA ได้ทำโครงการ Thailand Innovation Awards หรือ TIA ซึ่งเป็นการจัดประกวดผลงานนวัตกรรมสำหรับเยาวชน รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างเครือข่ายนวัตกรให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ และมีกูรูที่จะช่วยดึงศักยภาพความเป็นนักคิด และช่วยปูทางการทำธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีโครงการใหม่ล่าสุด คือ กองทุนยุวสตาร์ตอัพ หรือ Youth Startup Fund ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทำงานระหว่าง NIA กับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก สามารถต่อยอดแนวคิดพัฒนาสู่การเป็นสตาร์ตอัพที่สร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศ โดยมีเงินทุนให้เปล่ารายละไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท พัฒนาต้นแบบและดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีโปรแกรมที่ชื่อว่า Trainer’s Lab เพื่อสร้างเทรนเนอร์ที่เป็นครู และนักจัดกระบวนการทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดสาขา เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการ STEAM4INNOVATOR

นับเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถต่อยอดสู่ทักษะด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต