สพฐ.ชูโรงเรียนไร้ขยะ ปลุกจิตสำนึก-สร้างวินัย

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน “โรงเรียนปลอดขยะสัญจร” ระดับภูมิภาค สนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะ ตั้งเป้าให้ปี 2560 Set Zero Waste School เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนในการขับเคลื่อนการจัดการขยะในสถานศึกษา

“บุญรักษ์ ยอดเพชร” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2559 พบว่า แนวโน้มของปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 27.06 ล้านตัน คิดเป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน สะท้อนให้เห็นต้นเหตุของปัญหาขยะที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งการกำจัดขยะจากเทศบาลหรือการนำขยะไปกำจัดหรือทำลายเป็นการกำจัดที่กลางทางและปลายทาง

แต่ทางที่ถูกคือ แก้ปัญหาที่ต้นทาง ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเป็นหลัก ทั้งการคัดแยกขยะต้องเริ่มจากที่บ้าน สถานศึกษาต้องเป็นต้นแบบในการให้ความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึงบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างวินัยด้านการลดใช้เพื่อให้ขยะเกิดขึ้นน้อยลง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยจะต้องทำให้เป็นระบบเพื่อความยั่งยืน

“สพฐ.ตั้งเป้าหมายภายในปี 2561เป็นปีแห่งการปฏิบัติ โดยโรงเรียนของ สพฐ.ทุกแห่งต้องไร้ขยะ เนื่องจากปี 2559-2560 เราเน้นการสร้างความตระหนัก สร้างจิตสำนึกให้กับหน่วยงาน ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู นักเรียน และชุมชน จากนี้ทุกโรงเรียนจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ ต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน อาจเป็นลักษณะงบประมาณแลกเป้า”

ที่สำคัญเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตจะต้องเน้นการปฏิบัติที่เป็นไปตามบริบทของโรงเรียน และผลลัพธ์ต้องเกิดขึ้นที่ตัวเด็ก โดยให้โรงเรียนจัดทำแผนเสนอขึ้นมา สพฐ.จะทำหน้าที่ติดตามประเมินผล

“นิจวดี เจริญเกียรติบวร” ผู้อำนวยการ สนก. กล่าวว่า สพฐ.มอบหมายให้ สนก.ดำเนินการจัดกิจกรรมการสร้างจิตสำนึกและวินัยในการจัดการขยะ น้ำเสียและมลพิษทางอากาศในสถานศึกษาในปี 2559-2560ได้กำหนดนโยบายด้านการสร้างวินัยในสถานศึกษาการจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นโรงเรียนปลอดขยะ โดยกำหนดให้เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ ทำบันทึกข้อตกลงกับโรงเรียนให้ดำเนินการเรื่องการจัดการขยะในสถานศึกษา ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ในปี 2559 คัดเลือกโรงเรียนตัวอย่างของแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จาก 15,000 โรงเรียน ได้โรงเรียนนำร่องจำนวน 20 โรงเรียน

ส่วนในปี 2560 ได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศขยายผลให้ครบทุกโรงเรียน และให้คัดเลือกโรงเรียนลำดับ 1-3 เป็นโรงเรียนต้นแบบระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียน รวมทั้งนำความรู้ แนวทางที่ได้จากการเสวนา และการศึกษาดูงานมาประยุกต์ใช้วางแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป