ทำไมต้องแต่ง “ชุดนักเรียน” คำถามคาใจเด็กไทย ประหยัด-ลดความเหลื่อมล้ำ?

นักเรียนไทย
CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

ชุดนักเรียน เป็นอีกหนึ่ง Topic ที่กลุ่มนักเรียนไทย ได้ตั้งคำถามมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ดูเหมือนว่า เด็ก ๆ จะยังไม่เคยได้รับคำตอบที่ตรงใจ ทำให้ยังวนลูปอยู่กับคำถามที่ว่า “ทำไมต้องแต่งชุดนักเรียน”

แม้จะมีการตั้งคำถามมานาน แต่ดูเหมือนว่า ปี 2563 การแสดงของเด็กนักเรียน Gen Z จะค่อนข้างมีความชัดเจน และดุเดือดมากกว่าในอดีต

เครื่องแบบนักเรียนตามที่กฎบัญญัติ

หากเปิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 การแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนในของแต่ละระดับชั้นและประเภทการศึกษาได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องแต่งกายเช่นไร

อีกทั้ง พระราชบัญญัติ เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 มาตรา 5 ยังได้ระบุไว้ว่า ให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียน หากจะยกเว้นไม่แต่ง ต้องเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด พร้อมระบุอีกว่า หากใครไม่แต่งชุดนักเรียน โดยไม่ได้รับข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง อาจได้รับโทษทางวินัย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้

ช่วงท้ายยังระบุไว้ว่า พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้มีเครื่องแบบนักเรียนไว้เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการประหยัดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสร้างวินัยให้แก่นักเรียน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองเพื่อมิให้บุคคลอื่นแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่สิทธิที่จะแต่ง

นักเรียน Gen Z เริ่มเคลื่อนไหว

เริ่มจาก “ภาคีนักเรียน KKC” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวในข้อเรียกร้องต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เชิญชวนนักเรียนแต่ง “ชุดไปรเวท” ไปโรงเรียนในวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2563

ADVERTISMENT

หลังจากนั้นไม่นาน “กลุ่มนักเรียนเลว” ซึ่งถือเป็นหัวขบวนของนักเรียนไทย ที่ริเริ่มและคอยส่งคำถามคาใจไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ สมทบขบวนการ แต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน เช่นเดียวกัน

คำถามที่ต้องการคำตอบ

“หากใส่ชุดไปรเวทไปครูจะไม่ให้เราเข้าเรียนเพียงเพราะเราไม่ได้ใส่เครื่องแบบ? สุดท้ายแล้วเราไปเรียนเพื่ออะไรกันหากสิ่งที่ครูและผู้ใหญ่ให้ความสนใจมากกว่าการเรียนคือเครื่องแบบนักเรียน? หากนักเรียนไม่มีเงินมากพอจะซื้อชุดนักเรียน=ไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนหรอ? หากใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ เรามาทดลองกัน”

ADVERTISMENT

คำถามข้างต้น เป็นคำถามที่ กลุ่มภาคีนักเรียน KKC ได้ระบุไว้ในโพสต์ ซึ่งน่าจะเป็นการตกผลึกมาจากใจนักเรียนไทยหลายๆ คน ที่มีมุมมองการแต่งเครื่องแบบนักเรียนที่เปลี่ยนไป

คำตอบเบื้องต้นจากผู้ใหญ่

ไม่นานหลังคำถามของเด็กนักเรียนได้ส่งผ่านไปถึงหูของ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ได้ออกมาตอบคำถามว่า การแต่งชุดนักเรียนเป็นการรักษาอัตลักษณ์ของโรงเรียนแต่ละแห่ง เวลาออกไปข้างนอก หากได้รับอันตรายหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ผู้คนจะได้รู้ว่า อยู่โรงเรียนอะไร ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ หากแต่งไปรเวท อาจเกิดการแข่งขันเรื่องแฟชั่นการแต่งกาย ขณะที่ผู้ปกครองแต่ละคนมีฐานะที่ไม่เท่ากัน

คำตอบในเบื้องต้นของเลขาฯ ดูเหมือนว่า จะเป็นคำตอบที่ไม่ตรงกับคำถามทุกข้อ ของกลุ่มภาคีนักเรียน KKC เพราะยังไม่มีคำตอบที่สามารถตอบคำถามที่ว่า “สุดท้ายแล้วเราไปเรียนเพื่ออะไรกันหากสิ่งที่ครูและผู้ใหญ่ให้ความสนใจมากกว่าการเรียนคือเครื่องแบบนักเรียน? หากนักเรียนไม่มีเงินมากพอจะซื้อชุดนักเรียน=ไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนหรอ?”

23 โรงเรียน ร่วมแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน 1 ธ.ค.

ส่วนการแต่งชุดไปรเวท จะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ หรือ การแต่งชุดนักเรียนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องคอยจับตามองว่า หลังจาก ภาคีนักเรียน KKC ได้ประกาศทดลองแต่งชุดไปรเวท ไปโรงเรียนแล้ว จะได้คำตอบเป็นเช่นไร

วันที่ 30 พฤศจิกายน กลุ่มนักเรียนเลว ได้เปิดรายชื่อกว่า 23 โรงเรียน ในเบื้องต้น ที่จะแต่งชุดไปรเวทในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 นี้ ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2563