มองจากมุม “แอปเปิล” สอนเด็กให้ทันยุคดิจิทัล

เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 23 (วทร. 23) ในหัวข้อ “เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์เพื่อครูไทย 4.0”

โดยหนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมบรรยาย เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพครู ได้แก่ “จอห์น เค้าช” รองประธานฝ่ายการศึกษา บริษัทแอปเปิล ที่มาพูดถึงการศึกษาในยุคใหม่ และความท้าทาย

“จอห์น เค้าช” กล่าวว่า สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล เคยบอกกับเขาว่า เทคโนโลยีก็เหมือนกับจักรยาน ที่ช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์ของคนคนหนึ่งเคลื่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง และเขาเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนโลกได้ แอปเปิลจึงอยากสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้ทุกคนได้ใช้

“เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ Digital Natives ซึ่งคือกลุ่มคนที่เกิดหลังปี 2001 โดยคนกลุ่มนี้คุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เพื่อเล่นเกม ทำการบ้าน ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า และกิจกรรม ทั้งยังสื่อสารกับผู้คนผ่านเฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลน์ เป็นต้น พวกเขาใช้สิ่งเหล่านี้มากกว่าหนังสือในห้องเรียนเสียอีก”

ดังนั้น เครื่องมือทรงพลังที่สุดสำหรับการเรียนรู้ คือ เครื่องมือที่ผู้เรียนชอบใช้ แต่ความท้าทายทางด้านการศึกษาที่แท้จริง คือ ครูผู้สอนมักนึกถึงแต่เนื้อหาและรูปแบบการเรียน โดยไม่ได้เอางานวิจัยมาใช้กับการศึกษาของเด็ก ๆ มากพอ และถึงแม้มีอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ก็ยังใช้วิธีการสอนและเนื้อหาเหมือนเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้การเรียนการสอนไม่ประสบความสำเร็จ

“ในทางที่ถูก ผู้สอนต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่ จึงจะช่วยให้การเรียนรู้บรรลุสู่เป้าหมายได้ และเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ให้การศึกษา เป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนลงมือค้นคว้าด้วยตัวเอง โดยสื่อการเรียนควรเป็นรูปแบบดิจิทัล โต้ตอบได้ เสริมสร้างประสบการณ์ทั้งในและนอกห้องเรียน และการเรียนต้องไม่ใช้การท่องจำ”

“แต่ต้องเป็นแบบ 2 ทาง คือ มีการสื่อสารโต้ตอบกันระหว่างครู และนักเรียน เพราะหากทำการสอนแบบ 1 ทาง หัวสมองของนักเรียนจะไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ โดยมีการทดลองในเรื่องนี้ แล้วพบว่า สมองตอนที่เด็กกำลังดูทีวี ซึ่งเป็นกิจกรรมแบบ 1 ทาง ปรากฏว่าเส้นสมองของเด็กไม่กระตุกมากพอ เหมือนกับเส้นสมองของเด็กที่กำลังเรียนแบบท่องจำนั่นเอง”

“จอห์น เค้าช” อธิบายต่อว่า ทางบริษัทแอปเปิลจึงคิดทฤษฎีการเรียนรู้ที่เรียกว่า Challenge Based Learning (CBL) หรือการเรียนรู้บนความท้าทาย ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถใช้ทั้งในด้านการเรียน และการทำงานให้ประสบความสำเร็จ โดยมีต้นแบบจาก Problem Based Learning (PBL) โดย CBL จะช่วยปรับปรุงแนวความคิดให้เกิดความท้าทายในการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ และลูกศิษย์ ที่สำคัญครูต้องส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ ให้เขาเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว เพื่อช่วยแก้ปัญหาของชุมชน

“นอกจากนั้น เรายังสร้างโปรแกรมที่ช่วยผู้สอน ที่เรียกว่า Classroom สำหรับการใช้งานบนไอแพด ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้ช่วยการศึกษาได้ โดยทำให้ครูสามารถจัดการการเรียนการสอน ดูรายชื่อนักเรียน ทั้งยังสามารถดูความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนแต่ละคนได้อีกด้วย โดยจะมีการแจ้งเตือนที่ไอแพดของนักเรียนว่า มีการจับตาดูหน้าจอไอแพดของนักเรียนอยู่”

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รูปแบบการศึกษาจึงต้องปรับตัว โดยสิ่งที่จะเข้ามาในห้องเรียนเร็ว ๆ นี้จะเป็นพวกปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence-AI), การเรียนรู้แบบปรับเหมาะ, ระบบสั่งงานด้วยเสียง, Internet of Things (IOT), ภาพ 3 มิติ, ภาพเสมือนจริง และเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ

ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องหันมาถามตัวเองว่า เริ่มเตรียมที่จะเข้าใจ และนำสิ่งเหล่านี้มาใช้กับการศึกษาแล้วหรือยัง