สมศ.ถอดบทเรียนผลประเมิน ร.ร. พบ 5 วิธีการสอนที่เหมาะกับยุคโควิด

สมศ.ถอดบทเรียนผลประเมิน ร.ร. พบ 5 วิธีการสอนที่เหมาะกับยุคโควิด ได้แก่ 1. การสอนออนไลน์ผ่านสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย 2. การสอนผ่านคลิปวีดีโอ 3. การสอนแบบง่ายสลับยาก 4. การสอนออนไลน์โดยใช้สื่อประสม 5. การสอนออนไลน์กึ่งออฟไลน์

วันที่ 28 พ.ค. 2564 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เผยการประเมินคุณภาพภายนอกครึ่งแรกของปี 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พบสถานศึกษาส่วนใหญ่สามารถจัดการเรียนการสอนตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ แต่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ สมศ. ต้องปรับรูปแบบการประเมินภายนอกไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสถานศึกษาในการรับประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.

โดยมีการแบ่งการประเมินออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการประเมินผลจากการวิเคราะห์รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self Assessment Report: SAR) และระยะที่สอง เป็นการประเมินจากการตรวจเยี่ยมแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของสถานศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนของสถานศึกษาในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

จากการดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกในช่วงที่ผ่านมา สมศ. พบว่าสถานศึกษาได้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาอยู่บนออนไลน์เกือบทั้งหมด เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น 5 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่

1. การสอนออนไลน์ผ่านสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย

ยกตัวอย่างการสอนออนไลน์ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ที่สถานศึกษาได้ให้ครูใช้โปรแกรม Google Classroom และแบ่งห้องเรียนตามรายวิชาและระดับชั้นอย่างชัดเจน

หลังจากนั้นครูประจำรายวิชาจะมีการเผยแพร่สื่อการสอนใน Google Classroom และส่งลิงก์ห้อง Google Classroom ให้นักเรียนผ่านไลน์กลุ่มของแต่ระดับชั้น ทั้งนี้สถานศึกษายังมีการสอนออนไลน์แบบสด โดยครูบางรายวิชาจะเลือกสอนผ่าน Line VDO Call เพราะใช้ง่ายและติดต่อกับผู้เรียนได้สะดวก

ซึ่งทางโรงเรียนเปิดกว้างให้ครูผู้สอนสามารถดำเนินการได้ตามความถนัด แต่ถ้านักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ครูจะโทรศัพท์นัดให้เข้ามารับใบงาน และในระหว่างรอเปิดเทอมอย่างเต็มรูปแบบ และครูยังได้จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบ 1 เล่ม เพื่อมาอ่านให้เพื่อน ๆ และครูผู้สอนฟังผ่านทาง Google Classroom หรือไลน์กลุ่ม (Line Group) เพื่อเสริมสร้างจินตนาการและนิสัยรักการอ่าน พร้อมกับเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

2. การสอนผ่านคลิปวีดีโอ

ยกตัวอย่าง โรงเรียนวัดไทร (ถาวรพรหมานุกูล) สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ที่จัดแผนการสอนออนไลน์ไว้ตลอดทั้งภาคการศึกษา  เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทางสถานศึกษาจะเน้นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบส่งคลิปวีดีโอการสอนที่เตรียมการโดยครูประจำรายวิชา พร้อมทั้งแบบฝึกหัด บทเรียน รวมไปถึงการใช้ข้อมูลจากการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และยูทูป (YouTube) เพื่อให้ผู้เรียนมีช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลายช่องทาง

ส่วนวิชาที่มีความยากและซับซ้อน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ครูผู้สอนจะอัดคลิปวิดีโอ และอธิบายการทำโจทย์แต่ละข้อเสมือนการสอนในชั้นเรียนจริง โดยสื่อการเรียนทั้งหมดจะส่งผ่านไลน์กลุ่มของแต่ละระดับชั้น

ส่วนการแจกใบงานทางสถานศึกษาจะให้ผู้ปกครองเป็นผู้มารับใบงานที่สถานศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งสถานศึกษาได้จัดตารางเวลาการรับใบงานตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

3. การสอนแบบง่ายสลับยาก

ยกตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน สถานศึกษามีการเตรียมความพร้อมครูแต่ละรายวิชา เพื่อให้ครูจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในรายวิชาที่สามารถทำได้ เช่น วิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ส่วนวิชาใดที่จำเป็นจะต้องเรียนในห้องเรียน หรือรายวิชาการปฏิบัติอย่างเช่น วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ที่ครูจะต้องอธิบายโจทย์ ทางครูจะเก็บไว้ก่อน เพราะส่วนใหญ่เด็กจะมีสมาธิเพียงแค่ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น การเรียนออนไลน์จึงไม่เหมาะจะสอนในวิชาที่ยากและซับซ้อน

4. การสอนออนไลน์โดยใช้สื่อประสม

ยกตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนสาธิตพัฒนา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ที่ทางโรงเรียนได้มีการปรับหลักสูตรการสอนให้เหมาะสมกับระบบออนไลน์ให้ได้มากที่สุด มีการสอนออนไลน์แบบสดผ่านโปรแกรมไมโครซอฟท์ทีม (Microsoft Teams) โดยเน้นให้ครูทำหลักสูตรที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย และสนุก พร้อมจัดกิจกรรมให้เด็กได้มีส่วนร่วม

เมื่อครูได้ออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้แล้ว จะนำมาเสนอให้กลุ่มเพื่อนครูที่สอนในรายวิชาเดียวกัน ทั้งในระดับเดียวกันหรือต่างระดับชั้น รวมทั้งฝ่ายวิชาการและอาจารย์ที่ปรึกษาจะช่วยกันตรวจสอบเนื้อหา ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อปรับให้แผนการจัดการเรียนรู้น่าสนใจเหมาะสมกับเวลาประมาณ 30-40 นาที

และหลังหมดคาบเรียนจะต้องให้เด็กทำแบบทดสอบ เพื่อเป็นการเช็คว่าผู้เรียนเข้าเรียนจริง รวมทั้งเป็นการตรวจสอบว่าบทเรียนที่นำไปสอนทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจหรือไม่ เพื่อที่ครูผู้สอนประจำรายวิชาจะได้นำมาปรับแนวทางสำหรับการทำสื่อการเรียนการสอนในครั้งต่อ ๆ ไป

5. การสอนออนไลน์กึ่งออฟไลน์

กระทรวงศึกษาธิการได้ออกแบบการเรียนออนไลน์ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะชีวิตที่จำเป็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย โดยครูสามารถใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ “ครูพร้อม” ส่วนการเรียนแบบออฟไลน์จะเน้นให้เด็กทำใบงานตามที่ครูผู้สอนนำไปมอบให้ที่บ้าน

แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในระหว่างช่วงรอยต่อของการปิดภาคเรียน และยังสามารถเข้าถึงความรู้ได้ตามความเหมาะสมและความสะดวกของผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามการสอนแบบออนไลน์กึ่งออฟไลน์ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันได้อีกด้วย