“CMKL” เปิดรับ น.ศ.ปี”61 มุ่งสู่มหา’ลัยนวัตกรรมระดับโลก

หลังจากมีการใช้ ม.44 เพื่อเปิดทางให้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเข้ามาเปิดวิทยาเขตในประเทศไทย เพื่อให้เกิดผลดีในแง่การแข่งขัน และพัฒนาหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาไทย

ล่าสุดรูปแบบ และทิศทางในการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยปี 2561 จะเริ่มเปิดการเรียนการสอนของนักศึกษารุ่นแรก

“นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การจัดตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ถือเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาเพื่อถ่ายทอดวิทยาการ และองค์ความรู้ ที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อผลทางด้านการปฏิรูปการศึกษา และการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

“ทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) ซึ่งการเปิดทางผ่าน ม.44 ทำให้มีมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเข้ามาติดต่อที่จะขยายเข้ามายังประเทศไทย โดยล่าสุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติไทเป (National Taipei University) ประเทศไต้หวันเข้ามาติดต่อ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการแก้ไขหลักสูตรเพื่อจะนำเสนออีกรอบ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร แต่ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่จะเข้ามาเปิดวิทยาเขตได้จะต้องมีความดีเลิศ และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศไทยด้วย จึงจะได้รับการพิจารณา”

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดได้มีการลงนามข้อตกลงทางวิชาการ ณ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“เป้าหมายหลักของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลคือต้องการให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติอย่างตรงจุด ดังนั้น รูปแบบการเรียนการสอน นอกจากจะเน้นไปที่องค์ความรู้ทางวิชาการ โดยการส่งนักศึกษาไปเรียนกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญยังสหรัฐอเมริกาแล้ว ผู้เรียนจะต้องกลับมาฝึกปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการภาคเอกชนที่ลงนามเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย”

“ขณะนี้มีภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ร่วมลงนามแล้วหลายกลุ่มธุรกิจ เท่ากับว่าระหว่างการเรียนทั้งในระดับปริญญาเอก และปริญญาโท นักศึกษาจะได้ศึกษาวิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพลิกโฉมการศึกษาไทย”

“ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น” อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวเสริมว่า ในปีการศึกษาแรกของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลจะนำร่องเปิดสอน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาเอก และปริญญาโท และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ในระดับปริญญาโท โดยมีหลักสูตรครอบคลุมด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ ด้านระบบสารสนเทศและการให้บริการ ด้านดาต้าและการป้องกันภัยไซเบอร์ ด้านหุ่นยนต์สมองกล และการควบคุมจักรกลอัตโนมัติ ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และด้านโลจิสติกส์ และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการ และมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาจะได้ปริญญาบัตรเหมือนกับเรียนที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทุกประการ โดยมีรูปแบบการเรียนการสอน ดังนี้

ระดับปริญญาเอก ระยะเวลาเรียน 5 ปี เรียนในไทย 2 ปี และที่สหรัฐอเมริกา 3 ปี ตั้งเป้าภายใน 5-10 ปี ประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีของตนเอง และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของภูมิภาค

ระดับปริญญาโท ระยะเวลาเรียน 2 ปี เรียนในไทย 1 ปี และที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี ตั้งเป้าสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดโลกภายในระยะเวลา 2-3 ปี

“ในปีการศึกษาแรก สามารถเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 10 คนระดับปริญญาเอก จำนวน 5 คนและในปีถัดไปจะเพิ่มเป็น 20 คน และ 10 คน ตามลำดับ ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนนักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์ รวมไปถึงการหาคู่วิจัย ขณะนี้มีผู้แจ้งความจำนงแล้วประมาณ 100 ราย ซึ่งต้องมาคัดเลือกตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน”

“โดยระดับปริญญาเอกจะมีทุนการศึกษาให้ทั้งหมด จากการสนับสนุนจากพันธมิตรภาคเอกชน เพราะภาคเอกชนสามารถนำเงินที่ใช้สนับสนุนดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ 200% ทั้งนี้นักศึกษาต้องใช้ทุนให้แก่ผู้สนับสนุน รวมทั้งงานวิจัยจะให้เป็นสิทธิบัตรแก่บริษัทผู้สนับสนุน และการทำงานวิจัยจะมีอาจารย์ผู้วิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน 1 ท่าน บุคลากรจากพันธมิตร ภาคเอกชน 1 ท่าน อาจารย์ผู้วิจัยร่วมจาก สจล. หรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ 1 ท่าน”

“ส่วนนักศึกษาปริญญาโทจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 900,000 บาท/เทอม ด้านสถานที่เรียนจะมีการเช่าพื้นที่ของทาง สจล. ร่วมกับการใช้ห้องแล็บของพันธมิตรที่สนับสนุน และจะดำเนินการสร้างออฟฟิศที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งงบประมาณดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทำรายงานเพื่อนำเสนอ คาดว่าจะทราบตัวเลขในช่วงเดือนธันวาคมนี้”

เพราะการศึกษาคือการลงทุน ทั้งในแง่ของทุนมนุษย์ และทุนทรัพยากร แต่หากผลลัพธ์ที่ได้สามารถผลิดอกออกผลให้แก่ประเทศชาติได้ ก็จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง