มหา’ลัยรับกระแสเมตาเวิร์ส พัฒนาหลักสูตรใหม่สร้างมนุษย์ดิจิทัล

ตลอด 2-3 ปีผ่านมากระแสทรานส์ฟอร์มองค์กรถูกกล่าวถึงอย่างมาก จนทำให้หลายองค์กรเริ่มปรับตัว แต่ยังไม่ทันคืบหน้าเท่าไหร่นัก กลับเกิดการระบาดของมหันตภัยไวรัสร้ายโควิด-19 เข้ามาตอกย้ำ จนทำให้องค์กรหลายแห่งปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะหากยังทำธุรกิจแบบเดิม ๆ บริหารงานแบบเดิม ๆ ธุรกิจอาจล้มเหลวไม่เป็นท่า ยิ่งเฉพาะการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการทำงานของพนักงาน

ขณะที่พนักงานรุ่นใหม่ รวมถึงบัณฑิตใหม่ ล้วนต่างออกมาทำสตาร์ตอัพมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางการเงิน, อีคอมเมิร์ซ, แอปพลิเคชั่นดีไซน์ ไม่แม้แต่การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีก็ยิ่งทำให้ “คนรุ่นใหม่” หันมาสนใจด้านนี้มากขึ้น

ยิ่งมาบวกกับกระแสเมตาเวิร์ส (Metaverse) ของเฟซบุ๊ก เมื่อไม่กี่เดือนผ่านมา ยิ่งทำให้ “นักศึกษารุ่นใหม่” ต่างสนใจเรียนด้านนี้อย่างคึกคัก เพราะน่าจะหางานทำง่าย ผลเช่นนี้ จึงทำให้มหา’ลัยต่าง ๆ เริ่มปรับเปลี่ยนหลักสูตร พร้อมกับพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อผลิต “มนุษย์ดิจิทัล” ให้สอดรับกับความต้องการของตลาด

ม.หอการค้าไทยปักหมุดสร้าง “มนุษย์ดิจิทัล”

เบื้องต้น “รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทิศทางของ ม.หอการค้าไทย นับแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะมุ่งตอบสนองเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมทางการเงิน และเทคโนโลยีทั้งหลาย ยิ่งมาเห็นกระแสคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ในกลุ่ม Gen Z ที่ให้ความสนใจเรื่องนี้กันมาก ยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่าต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อหันมาทางนี้

“ผ่านมาเราผนึกความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เพื่อสอนนักศึกษาเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ และทำกำไรจากส่วนต่างของการลงทุน พร้อมกับร่วมพัฒนาหลักสูตรการเงินสมัยใหม่ให้กับสาขาวิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการเงินในอนาคต”

“นอกจากนั้น เรายังร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุน รวมถึงการแนะนำการเป็นผู้ประกอบการที่ดี ขณะเดียวกัน เราก็ร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการอบรมผู้ประกอบการรุ่นใหม่,

ทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ที่เป็นสมาชิกหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ ในโครงการ YEC (Young Enterpreneur Chamber of Commerce) เพื่อเติมความรู้เรื่องการบริหารการเงิน, การวางแผนธุรกิจ และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยในปี 2565 เราเตรียมเปิดห้องปฏิบัติจำลองในการเทรดหุ้น เพื่อฝึกวิเคราะห์ทักษะการเล่นหุ้นด้วย”

“ล่าสุดกำลังเปิดหลักสูตรพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development) สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือผู้บริหารรุ่นใหม่ อายุประมาณ 30-40 ปี เพราะตอนนี้กลุ่มคนดังกล่าวหันมาประกอบอาชีพสตาร์ตอัพค่อนข้างเยอะ และหลายคนประสบความสำเร็จทางธุรกิจ

แต่ประสบปัญหาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน เราจึงเปิดหลักสูตรระยะสั้น ๆ เพื่อรองรับสำหรับพัฒนาคนในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก หากประสบความสำเร็จจะเปิดหลักสูตรปริญญาตรีในลำดับต่อไป”

ม.กรุงเทพพร้อมผลิต น.ศ.สู่ตลาดดิจิทัล

ขณะที่ “ดร.ถิรพล วงศ์สอาดสกุล” ผู้ช่วยอธิการบดีสายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ตอนนี้กระแสเมตาเวิร์สมาแรงเพราะหลังจาก “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอเฟซบุ๊ก ประกาศเปลี่ยนชื่อ “facebook” มาเป็น “Meta” จนทำให้ภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายรายต่างหันมาลงทุนด้านนี้มากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ทำให้นักศึกษาของเราที่เรียนทางด้านสาขาเทคโนโลยี, กราฟิก, เกม, แอนิเมชั่น, คอนเทนต์ครีเอเตอร์, โปรแกรมเมอร์ หรือนักศึกษาที่เรียนด้านดิจิทัลมีเดียมีความหวัง เพราะคาดว่าตำแหน่งงานดังกล่าวเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต

“ม.กรุงเทพมีสาขาวิชาทางด้านนี้ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นไอที, ดิจิทัลมีเดีย, ภาพยนตร์ เรามีนักศึกษาลงทะเบียนสาขาเหล่านี้กว่า 5,000 คน และตลอดเวลาผ่านมาเราผลิตบัณฑิตสาขาดังกล่าวปีละกว่า 1,000 คน

แต่ทำงานตรงสายจริง ๆ เพียงแค่ 30-40% เพราะนักศึกษาบางส่วนอยากทำอาชีพอื่น ผมจึงมองว่าเราต้องปรับแผนการเรียนการสอนให้ตรงกับความชอบของผู้เรียนมากขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว”

“ดังนั้น สิ่งที่ทำตอนนี้คือปรับการเรียนการสอนเป็นโมดูล ด้วยการนำเนื้อหารายวิชาต่าง ๆ มาแยกย่อยให้ผู้เรียนเกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดย 1 โมดูลเทียบเท่ากับ 1 หน่วยกิต จากนั้นเรานำวิชาเหล่านี้เข้าไปผสมกับวิชาหลัก ๆ

ข้อดีคือการเรียนการสอนจะยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถดึงเข้าหรือดึงออกได้ เมื่อเทรนด์เปลี่ยน เราจะได้ปรับเปลี่ยนทัน”

PIM เร่งผลิต น.ศ.พร้อมสู่โลกเสมือนจริง

สำหรับ “รศ.ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) มองว่าหากดูจากกระแสเมตาเวิร์ส คาดว่าจะทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่นิยมมากขึ้น และจะทำให้สายงานด้านนี้เป็นที่ต้องการของตลาดอีก 10 เท่าใน 10 ปีข้างหน้า

“เพียงแต่เรายังผลิตคนทางด้านนี้ไม่ทัน จริง ๆ เรื่องนี้เราประสบปัญหามานานแล้วจากหลาย ๆ ปัจจัย ทางหนึ่งอาจขึ้นกับกระแสหรือเทรนด์แต่ละปีด้วย อย่างอดีตเราประสบปัญหาคนเรียนน้อย ตอนนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่

เนื่องจากคนรุ่นใหม่หลายคนยังมองภาพไม่ชัดว่าอาชีพนักเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์เป็นแบบไหน ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนสูงมาก พวกเขาจึงไม่เกิดแรงบันดาลใจให้อยากสมัครเรียน”

“ขณะที่บางมหาวิทยาลัยมีคนเรียนจำนวนมาก แต่จบไปก็ไม่ได้ทำงานตรงสายที่เรียนมา เราเคารพความชอบของนักศึกษา พยายามจัดทำหลักสูตร หรือการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียน และภาคธุรกิจต่าง ๆ

ดังนั้น สิ่งที่พีไอเอ็มทำมาตลอดคือให้นักศึกษาทุกคณะ ทุกสาขาวิชาเรียนไปด้วยฝึกประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการจริงระหว่างเรียนไปด้วยตั้งแต่ชั้นปี 1 เราพยายามร่วมมือกับภาคธุรกิจหลาย ๆ แห่ง

ซึ่งเชื่อว่าเป็นแนวโน้มที่มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งกำลังดำเนินการเช่นเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาเด็กจบไปทำงานไม่ได้ หรือทำงานไม่ตรงสาย และในปีต่อ ๆ ไปก็จะเน้นไปในทิศทางนี้เช่นเดิม”

มจธ.ส่งเสริมนักศึกษาเรียนข้ามศาสตร์

ส่วน “ผศ.ดร.ปริยกร ปุสวิโร” ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศและดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เทรนด์ปัจจุบันนักศึกษาส่วนใหญ่เมินงานประจำ โดยหันไปทำอาชีพอิสระประเภทงานฟรีแลนซ์, ยูทูบเบอร์, อีคอมเมิร์ซ

รวมถึงอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนในบิตคอยน์ ถามว่าอาชีพอิสระแบบนี้มั่นคงหรือไม่ คงต้องบอกว่าน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องมีพื้นฐานองค์ความรู้ที่แน่นพอ

“สำหรับ มจธ.เราส่งเสริมนักศึกษาให้รับโอกาสการเรียนที่หลากหลาย ด้วยการให้นักศึกษาเรียนข้ามศาสตร์ หรือสาขาอื่น ๆ ได้ เช่น ถ้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็สามารถลงเรียนร่วมกับวิชาศิลปะ ทั้งดีไซน์, ภาพยนตร์

หรือเรียนหลักสูตรเฮลท์แคร์ ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อออกแบบการอยู่อาศัย สร้างบ้านให้น่าอยู่ หรือตกแต่งห้องเพื่อให้แสงเข้าแต่พอดี เพื่อจะช่วยให้ผู้สูงอายุนอนหลับ พูดง่าย ๆ เราใช้วิธีผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ ที่ผู้เรียนอยากเรียนมารวมกัน เพื่อให้เกิดทางเลือกทางการศึกษามากขึ้น”