น้ำท่วมภาคใต้ โรงเรียน 197 แห่งเสียหาย สพฐ.เร่งจัดงบฯช่วยเหลือ

“ตรีนุช” บินด่วนลงพื้นที่นราธิวาส ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ หลัง 197 โรงเรียนได้รับผลกระทบ สั่งต้นสังกัดสถานศึกษาเกาะติด-รายงาน พร้อมให้ สพฐ.จัดสรรงบฯช่วยเหลือทันที

วันที่ 3 มีนาคม 2565 ที่จังหวัดนราธิวาส นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

และนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

โดยนางสาวตรีนุช เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ตนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

“เบื้องต้น สพฐ.ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือเยียวยาประมาณ 260,000 บาท ให้แก่โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายรวม 197 โรงเรียน

ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 47,402,787 บาท โดยมีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ 14,645 คน และครูที่ได้รับผลกระทบอีก 342 คน อีกทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวของนายนพดล มะลิลา ซึ่งเป็นพนักงานราชการของโรงเรียนนิคมพัฒนา 10 ผู้ประสบอุทกภัยที่เสียชีวิตตามที่มีการนำเสนอข่าวด้วย”

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่นักเรียน นักศึกษา ครู ทีม Fix it Center อาชีวะจิตอาสา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่โรงเรียนบ้านตือระ มิตรภาพที่ 172 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก–ลก จ.นราธิวาส ซึ่งดำเนินการโดยทีมจากวิทยาลัยเทคนิค (วท.) บางนรา วท.ปัตตานี และวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา นอกจากนี้ ยังมีจุดให้บริการอื่น ๆ ได้แก่

โรงเรียนบ้านมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก–ลก จ.นราธิวาส ดำเนินการโดยวิทยาลัยการอาชีพ.สุไหงโก–ลก วิทยาลัยเทคนิคยะลา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี โดยจุดบริการต่างๆ จะออกให้บริการจัดน้ำดื่ม การปรุงอาหาร มอบให้แก่ผู้ประสบภัย อีกทั้งซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือน และการดำรงชีพให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

“การร่วมตั้งศูนย์ให้บริการแก่ประชาชน เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผลกระทบอุทกภัยแล้ว ยังส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษานำความรู้ความชำนาญด้านงานช่าง มาให้บริการพี่น้องในชุมชนด้วย แสดงให้เห็นถึงความเป็นจิตอาสา ซึ่งทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ นักศึกษาอาชีวะก็จะออกมาช่วยเหลือประชาชนเสมอ” นางสาวตรีนุชกล่าว