“เชฟโรเลต” ชูโกลบอลมาร์เก็ตติ้ง ขับเคลื่อนองค์กร-

สัมภาษณ์

ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกันอย่าง “เชฟโรเลต” ในบ้านเราและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง นอกจากการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ที่ปฏิรูปสู่องค์กรที่กระชับ ขับเคลื่อน ด้วยทรัพยากรบุคคล โนว์ฮาวอันทรงประสิทธิภาพ ตามแบบวิถีของค่ายรถ “จีเอ็ม”

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้ร่วมผู้คุยกับผู้บริหารสาวซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมาหลายทศวรรษ อย่าง “ปิยะนุช จตุรภัทร์” ซึ่งวันที่ 16 ก.พ.นี้ก็จะครบ1 ปี ที่เข้ารับบทบาทผู้อำนวยการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย ปี 2561 ถือเป็นปีแห่งการขับเคลื่อน และสร้างรากฐานเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ เชฟโรเลตในประเทศไทย จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกัน

Q : นโยบาย หลังปรับองค์กร ครั้งใหญ่

อย่างที่ทราบกันว่า จีเอ็ม เราได้ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ไปเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยเราจะมุ่งเน้นการบริการลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกันกับการทำงานภายในองค์กรเราต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่นเดียวกัน เช่น การตลาดเชฟโรเลต เราใช้วิธีการทำตลาดร่วมกันทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโกลบอลมาร์เก็ตติ้ง

เพียงแต่ว่าในส่วนของรายละเอียดต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศจะเอามาปรับ หรือปรุงส่วนผสมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับลูกค้า หรือพฤติกรรมของตลาดในประเทศนั้น ๆ หรือจะพูดให้เห็นภาพที่ชัดเจนที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนองค์กรของเชฟโรเลต เราจะใช้วัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

Q : โอกาสและการเติบโตของตลาดภูมิภาคนี้

จากการประเมินและศึกษาแนวโน้มตลาด เชฟโรเลตเราเชื่อว่า ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2566 ความต้องการใช้รถยนต์ในประเทศไทยอาจจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 1 ล้านคัน และเชฟโรเลตเชื่อว่า 50% ของความต้องการจะเป็นกลุ่มรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ขณะที่ยอดขายสำหรับประเทศไทยในปี 2561 นั้น น่าจะมีความต้องการอยู่ที่ 850,000-860,000 คัน หากไม่มีปัจจัยลบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมาส่งผลกระทบ โดยเชฟโรเลตจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 2% หรือ 20,000 คัน

Q : นโยบายในการดูแลผู้แทนจำหน่าย

ปัจจุบันเชฟโรเลต เราอยู่ระหว่างการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร เช่นเดียวกันในส่วนของผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ หรือดีลเลอร์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับฐาน เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่พร้อมวิ่งไปข้างหน้า และ 2.กลุ่มที่ยังไม่พร้อม สิ่งสำคัญบริษัทจำเป็นต้องทำให้ตัวแทนจำหน่ายมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจมากขึ้น จากการจำหน่ายรถปิกอัพขนาด 1 ตันและรถเอสยูวี หรือปัจจุบันในบางพื้นที่ที่ดีลเลอร์เข้าไม่ถึงลูกค้า เราก็อาจจะต้องเข้าทำงานร่วมกันเพิ่มความเข้มข้นเพื่อให้ดีลเลอร์เข้าไปถึงลูกค้า กลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย ปัจจุบันเรามีตัวแทนจำหน่ายทั้งสิ้น 58 ราย กับ 90 โชว์รูม วันนี้มีจำนวนดีลเลอร์กว่า 50% ที่พร้อมปรับและผ่านเกณฑ์มาตรฐานของเราแล้ว โดยพร้อมรีโนเวตโชว์รูม ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาด เพราะเราเชื่อว่า คนในพื้นที่จะเข้าใจถึงความต้องการของคนในพื้นที่ได้มากที่สุด ซึ่งเชฟโรเลตจะยึดนโยบายนี้ คือให้ตัวแทนจำหน่ายทำการตลาดในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนบริษัทจะสนับสนุนการตลาดและเสริมทัพ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในภาพใหญ่

Q : แสดงว่าต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม

แน่นอนว่าในส่วนของผู้แทนจำหน่ายนั้นจะต้องลงทุนในส่วนของ การพัฒนาบุคลากรเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บริษัทเองจะลงทุนในส่วนของ ฮาร์ดแวร์ ในรูปแบบของการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ การลงทุนที่เกินความจำเป็น ไม่ใช่นโยบายของเชฟโรเลตอย่างแน่นอน