ธุรกิจครอบครัวไทย พร้อมก้าวสู่ดิจิทัล-

บรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่เข้ามาทำตลาดในไทยต่างยืนยันว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยต่างตื่นตัวอย่างมากที่จะทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล แต่สำหรับองค์กรขนาดกลางและเล็กยังน่ากังวล

แต่ล่าสุดงานวิจัยเกี่ยวกับความพร้อมสู่อนาคตขององค์กรธุรกิจ ที่ยังอยู่ในรูปแบบของธุรกิจครอบครัวใน
อาเซียนที่หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ (EIU) ของนิตยสาร The Economist ภายใต้การสนับสนุนจากเอสเอพี (SAP) ได้ทำการสำรวจพบว่า ธุรกิจครอบครัวในไทยมีความเชื่อมั่นสูงในการจัดการกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยมีคะแนนอยู่ที่ 8.3 (เต็ม 10) ซึ่งเท่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และยังมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถของพนักงานในการจ้างและดูแลบุคลากรด้วยคะแนน 8.6 เช่นเดียวกับการพัฒนาทักษะของพนักงาน ทั้งยังมีความกังวลต่อปัจจัยคุกคามจากภายนอกน้อยที่สุดในอาเซียน

“แอนดรูว์ สแตเพิลส์” Global Editorial Director, The Economist Corporate Network กล่าวว่า ผลวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงทัศนคติที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง และตระหนักที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ขณะที่ “วีรีน่า เสี่ยว”กรรมการผู้จัดการเอเอสพี ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นระดับองค์กร กล่าวเสริมว่า เมื่อผู้ประกอบการเกิดความตระหนักก็จะทำให้เกิดการวางแผนเพื่อจะพัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่งทัศนคติที่ถูกต้องจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีความได้เปรียบเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งในประเทศไทยเห็นได้ชัดเจนถึงความตื่นตัวนี้

ด้าน “รศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์” รองศาสตราจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBC) เปิดเผยว่า ธุรกิจครอบครัวในไทยมีความท้าทายหลายมิติในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีในยุคนี้

1.ลักษณะของโครงสร้างองค์กรที่ยังเป็น “กลุ่มธุรกิจ” ที่มักเป็นการขยายตัวออกไปสู่อุตสาหกรรมที่หลากหลาย อาทิ กลุ่ม ซี.พี.ที่มีทั้งธุรกิจอาหารและโทรคมนาคม ซึ่งก็มีประโยชน์ในแง่ที่เป็นการลดความขัดแย้งในครอบครัว ที่แต่ละคนมีทิศทางความเชี่ยวชาญของตนเอง แต่การที่มีหลายอุตสาหกรรมก็ทำให้ขาดการโฟกัสที่ชัดเจนได้ จึงจำเป็นที่ผู้บริหารต้องรู้ว่า ณ จุดใดต้องรีบนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้

Advertisment

2.การปรับตัวให้แข่งขันด้านคุณภาพได้นอกเหนือจากการแข่งราคาเพียงอย่างเดียว 3.การดึงมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาทำงานด้วย โดยมีความสมดุลระหว่างบุคลากรที่เป็นคนในครอบครัวกับผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก การลดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ 4.การก้าวสู่โลกธุรกิจนอกเหนือจากที่อยู่ภายใต้เครือข่ายของครอบครัว

ขณะที่กรรมการผู้จัดการเอเอสพีระบุว่า ธุรกิจครอบครัวจะประสบความสำเร็จในการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลได้ต้องผสานเทคโนโลยีความรู้ของคนรุ่นใหม่เข้ากับภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนรุ่นเก่า ขณะที่โฟกัสสำคัญที่ต้องเร่งทำเป็นอันดับแรกไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใด คือ การพัฒนาทักษะของบุคลากรให้พร้อมทำงานในโลกยุคใหม่ และหาวิธีที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานให้ได้ ซึ่งความเป็นธุรกิจครอบครัวอาจจะทำให้มีอุปสรรคในส่วนนี้

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

Advertisment

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”