อ่วม ! ปี”61 ค่ารถไฟฟ้า ทางด่วน มอเตอร์เวย์ ขึ้นยกแผง ใช้รถใต้ดินแจ็กพอต 3 สถานี ปรับขึ้นค่าโดยสาร 1 บาท บีทีเอสตรึงราคาบัตรแรบบิทถึง มี.ค. 61 กทม.จ่อรื้อราคาส่วนต่อขยายสายใต้รับสีเขียว ทางด่วน 2 สายจ่อขึ้น 5-10 บาท
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-หัวลำโพง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 22 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา
คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทได้อนุมัติตามที่เสนอขอปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบกำหนดต้องปรับขึ้นราคาตามสัญญา วันที่ 3 ก.ค. 2561 ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ที่ปรับขึ้น
ใช้ใต้ดินระยะสั้นปรับขึ้น 1 บาท
ทั้งนี้จากการคำนวณพบว่า แม้ตลอดเส้นทาง 18 สถานี อัตราค่าโดยสารจะยังคงเท่าเดิมในอัตราปัจจุบัน คือเริ่มต้น 16 บาท และสูงสุด 42 บาท แต่จะมี 3 สถานีระหว่างทางที่จะปรับขึ้นสถานีละ 1 บาท เช่น จากเดิมเก็บ 22 บาท จะเพิ่มเป็น 23 บาท ซึ่งจะกระทบกับผู้โดยสารที่ใช้บริการระยะสั้น ๆ เท่านั้น คาดว่าภายในสิ้นเดือน พ.ย. 2560 นี้ จะเสนอการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พิจารณาอนุมัติ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป จากนั้นจะเริ่มประกาศราคาใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 ซึ่งตามสัญญาจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า 1 เดือน หมายความว่าจะต้องออกประกาศราคาใหม่ภายในเดือน พ.ค. 2561 เป็นอย่างช้า
“แต่จะจัดโปรโมชั่นออกบัตรโดยสารประเภทต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ เช่น บัตรไม่จำกัดจำนวนเที่ยวที่เราชะลอออกไป เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอให้ รฟม.พิจารณา เพราะมีรายได้ร่วมกัน โดยบริษัทแบ่งรายได้ค่าโดยสารให้ รฟม.ที่ 1% จากรายรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน”
ลอนช์โปรโมชั่นเป็นทางเลือก
นายสมบัติกล่าวว่า หลังเปิดใช้ 1 สถานีเชื่อมเตาปูน-บางซื่อ ระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ปัจจุบันผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น 10% เฉลี่ยอยู่ที่ 350,000 เที่ยวคน/วัน มีบางวันสูงสุดถึง 400,000 เที่ยวคน/วัน คาดว่าปี 2561 จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 4-5% และหลังเปิดบริการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในปี 2562 ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 100,000 เที่ยวคน/วัน เป็น กว่า 500,000 เที่ยวคน/วัน ซึ่งในปีนั้นรถใหม่ที่สั่งซื้อจะมาครบ 35 ขบวน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 1 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา รฟม.ได้กลับมาเก็บค่าโดยสารสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ อัตราปกติ 14-42 บาท หลังต่อเชื่อมกับสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่อแล้ว แต่ยังคงยกเว้นค่าแรกเข้าต่อที่ 2 หากผู้โดยสารใช้บริการทั้ง 2 ระบบ คือ สายสีม่วงกับสีน้ำเงิน จากคลองบางไผ่-หัวลำโพง จะเสียค่าโดยสาร 70 บาท/เที่ยว ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารสายสีม่วงยังคงเท่าเดิมเฉลี่ยกว่า 50,000 เที่ยวคน/วัน
BTS ตรึงราคาบัตรแรบบิท
ในส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอส บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้รับสัมปทาน ได้ประกาศปรับค่าโดยสารตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 หลังไม่ได้ปรับมากว่า 4 ปี ทั้งสายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของ กทม.จากเดิมราคา 15 บาท-42 บาท เป็น 16 บาท-44 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 1-3 บาท แต่ยังคงราคาเดิมสำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงินถึง 31 มี.ค. 2561
ด้านแหล่งข่าวจาก กทม.เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายบีทีเอสที่ กทม.ดูแลเอง ทั้งสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง 5.25 กม. 5 สถานี และสายสีลมช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า 5.3 กม. 4 สถานี ที่ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งปรับขึ้นเมื่อ 1 เม.ย. 2560
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างศึกษาจะปรับโครงสร้างราคาบีทีเอสส่วนต่อขยายใหม่ในส่วนของสายสุขุมวิท เนื่องจากภายในเดือน ธ.ค. 2561 กทม.จะเปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ 12.8 กม. 9 สถานี ที่รับโอนโครงการจากรฟม. โดยค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะจัดเก็บอัตรา 35 หรือ 40 บาท ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหาร ส่วนบีทีเอสต่อขยายสายสีลมยังเก็บ 15 บาทตลอดสาย
ขณะเดียวกัน กทม.กำลังศึกษาอัตราโครงสร้างค่าโดยสารของบีทีเอสใหม่เป็นรูปแบบโซนนิ่ง เนื่องจากจะมีรถไฟฟ้าหลายสายเปิดบริการเพิ่มขึ้นอีก เช่น ส่วนต่อขยายสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี, สายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง ข้อดีคือเมื่อคนใช้บริการมากขึ้น ค่าโดยสารจะถูกลง โดย กทม.อาจรับภาระบางส่วน
ทางด่วนจ่อปรับขึ้น 2 สาย
ด้านทางด่วนมีแนวโน้มจะปรับขึ้น 2 สายทาง ก่อนหน้านี้ พล.อ.วิรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า 1 ก.ย. 2561 จะครบกำหนดปรับค่าผ่านทางด่วน ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับ BEM จะปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามค่า CPI ซึ่งที่ผ่านมาปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10 บาท โดยจะพิจารณาภายในเดือน เม.ย. 2561 อาจปรับขึ้นหรือไม่ปรับก็ได้
สำหรับอัตราค่าผ่านทางปัจจุบันปรับขึ้นมาตั้งแต่ 1 ก.ย. 2556 ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) รถ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 75 บาทมากกว่า 10 ล้อ 110 บาท ทางพิเศษศรีรัช ส่วน C รถ 4 ล้อ 15 บาท รถ 6-10 ล้อ20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 35 บาท ส่วน D รถ 4 ล้อ 25 บาท รถ 6-10 ล้อ 55 บาทมากกว่า 10 ล้อ 75 บาท นอกจากนี้ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) จะครบกำหนด 1 พ.ย. 2561
มอเตอร์เวย์ถึงพัทยา 105 บาท
ขณะที่นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า วันที่ 5 ม.ค. 2561 จะทดลองใช้ด่านเก็บค่าผ่านทางถาวรแบบระบบปิด ช่วงชลบุรี-พัทยา ระยะทาง 42 กม. ส่วนต่อเชื่อมกรุงเทพฯ-ชลบุรี โดยให้ใช้ฟรี เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย จะเริ่มเก็บค่าผ่านทางหลังเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีคนใช้บริการ 150,000 เที่ยวคัน/วัน
“มอเตอร์เวย์ใช้ระบบเก็บเงินเป็นแบบปิดทั้งหมด รับบัตรที่ต้นทางคือด่านลาดกระบัง และคืนบัตรพร้อมจ่ายเงินที่ด่านขาออก 8 ด่าน หากวิ่งจากลาดกระบังถึงพัทยา จะเสียค่าผ่านทาง 105 บาท จากปัจจุบันวิ่งถึงชลบุรี 60 บาท”
ปัจจุบันช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี กรมได้ปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบปิดเรียบร้อยแล้ว มี 4 ด่าน คือ ด่านบางบ่อ บางปะกง พนัสนิคม และพานทอง ส่วนช่วงชลบุรี-พัทยา มี 5 ด่านใหม่ ได้แก่ ด่านบ้านบึง ด่านบางพระ ด่านหนองขาม ด่านโป่ง และด่านพัทยา
ส่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง หรือโทลล์เวย์ ผู้รับสัมปทานจากกรมทางหลวง (ทล.) ได้ปรับค่าผ่านทางจาก 60 บาท เป็น 70 บาท ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2557 ตามสัญญาจะปรับทุก 5 ปี ตาม CPI จะครบกำหนดวันที่ 22 ธ.ค. 2562