ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังการประชุมเฟด จับตาตัวเลขการจ้างงานศุกร์นี้

ภาพ : pixabay

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังการประชุมเฟด จับตาตัวเลขการจ้างงานศุกร์นี้ ขณะที่เฟดส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมครั้งต่อไปเดือนกันยายน ส่วนเงินบาทปรับตัวแข็งค่าและปิดตลาดที่ระดับ 35.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (1/8) ที่ระดับ 36.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/7) ที่ระดับ 36.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงวันหยุดยาวของประเทศไทย (28-31/7) หลังจากที่คืนวันพุธ (27/7) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด มีมติเป็นเอกฉันท์ 12-0 ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 2.25-2.50%

เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบเดือน ก.ย.

โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ยืนยันว่าเขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน พร้อมกันนี้ยังส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกันยายน แต่อาจจะมีการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ซึ่งทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดได้รับ

ซึ่งหลังการประชุมนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าเฟดมีท่าทีที่ผ่อนคลายลง และน่าจะระมัดระวังในการปรับดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้นี้ โดยนักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า GDP หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาส ติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย “ทางเทคนิค” โดยเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว

ทั้งนี้ ล่าสุด (5/8) Fed Watch Tool ของ CMB Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 64.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายน และให้น้ำหนัก 46.8% ที่อัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีจะอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50%

ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ถึงแม้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า แต่ก็มีแข็งค่ากลับในบางช่วง อาทิ ในช่วงกลางสัปดาห์ ดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เดินทางเยือนไต้หวัน และเข้าหารือกับประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน ที่ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งถือเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศจีน

ซึ่งทางรัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการประกาศจัดการซ้อมรบโดยมีการใช้กระสุนจริงยาวนาน 4 วัน ในบริเวณใกล้เคียงกับชายแดนของไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม ณ สถานการณ์ล่าสุดความกังวลของนักลงทุนได้บรรเทาลงหลังไม่ได้มีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนเล็กน้อยหลังขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคบริการออกมาที่ระดับ 56.7 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 56.7 สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 53.5 และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.0% ในเดือน มิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 1.1%

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (5/8) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 258,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าระดับ 372,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนกรกฎาคมจะทรงตัวที่ระดับ 3.6%

เงินบาทกลับมาแข็งค่า

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินเปิดปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปรับตัวแข็งค่าสุดที่ระดับประมาณ 35.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงวันศุกร์ (5/8) โดยสาเหตุหลักเกิดจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ การคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ หากเทียบกับประเทศอื่น โดยกระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโต 3.3% โดยเป็นผลมาจากการบริโภคเอกชน และกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวอื่น

โดยกระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโต 3.3% โดยเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน และกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยมากขึ้นภายหลังจากการเปิดประเทศ โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ จะอยู่ที่ราว 6 ล้านคน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (GPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 107.41 เพิ่มขึ้น 7.61% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงเล็กน้อย -0.16% จากเดือน มิ.ย. 65 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 5.89% ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.56-36.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (1/8) ที่ระดับ 1.0234/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/7) ที่ระดับ 1.0213/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐและตอบรับการคาดการณ์ที่เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% ในไตรมาสสองของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 0.5%

ธนาคารกลางอังกฤษขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันหลัง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 8-1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมในวันพฤหัสบดี (4/8) โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 27 ปีของ BOE หรือนับตั้งแต่ปี 2538 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

โดยธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งถือเป็นภาระถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน ทั้งนี้ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1.0123-1.0293 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0231/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (1/8) ที่ระดับ 132.44/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/7) ที่ระดับ 138.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐและตอบรับการคาดการณ์ที่เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปี

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนยังคงถูกกดดัน เนื่องจากเป็นที่คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ทิศทางนโยบายการเงินยังคงแตกต่างจากสหรัฐอยู่มาก

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ล่าสุดมีการเปิดเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.ของญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 8.9% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการที่จีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในภาคอุตสาหกรรมเริ่มบรรเทาลง

ทั้งนี้ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.40-134.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ