เงินเฟ้อหนุน “รีไฟแนนซ์รถ” พุ่ง “แบงก์-น็อนแบงก์” ตบเท้าชิงตลาดคึกคัก

รีไฟแนนซ์รถ

ตลาดรีไฟแนนซ์รถโตกระฉูด 15-20% รับปัจจัย “เงินเฟ้อสูง-ค่าครองชีพพุ่ง-สภาพคล่องตึง” หนุนความต้องการสินเชื่อ แบงก์-น็อนแบงก์แห่ชิงตลาดคึกคักเจาะกลุ่มอาชีพอิสระ

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์รถ (รถเรียกเงิน) เติบโตดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้กู้กลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้แปรผัน พบว่ามีความต้องการใช้เงินหมุนเวียนมากขึ้น ประกอบกับสินเชื่อประเภทนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ทำให้ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) หันมาปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้มากขึ้น

“สินเชื่อรีไฟแนนซ์รถปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 15-20% โดยยอดรถยนต์จดทะเบียนสะสมมีทั้งสิ้น 18 ล้านคัน ซึ่งจากตัวเลขของสมาคมเช่าซื้อและบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) พบว่า มีรถปลอดภาระอยู่ราว 10 ล้านคัน ซึ่งสามารถนำมาขอวงเงินสินเชื่อได้”

ทั้งนี้ KKP ตั้งเป้าสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถเติบโตสอดคล้องกับตลาดที่คาดว่าจะขยายตัว 15-20% โดยล่าสุด ยอดคงค้างสินเชื่อรถเรียกเงินของ KKP อยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท (ณ ไตรมาส 1/2565) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมดที่อยู่ 1.64 แสนล้านบาท

“ปีนี้เราจะเน้นปล่อยสินเชื่อรถเรียกเงินมากขึ้น เพราะมีสัญญาณความต้องการใช้สินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระที่มีความจำเป็นใช้เงินเสริมสภาพคล่อง ทั้งนี้ ช่วงโควิดสินเชื่อรถใหม่และเก่าตลาดหดตัวไป -1% แต่ตลาดรีไฟแนนซ์รถขยายตัว 15-20% ปีนี้ก็น่าจะขยายตัวใกล้เคียงกัน ยิ่งในภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง สินเชื่อมีหลักประกันมีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง ดังนั้นแบงก์จะหันมาปล่อยสินเชื่อนี้มากขึ้นแทนสินเชื่อประเภทอื่น โดยพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้ และภาระหนี้ต่อรายได้ต้องไม่เกิน 80% ถือเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ”

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าสินเชื่อรถช่วยได้ จะเติบโตได้สูงใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีทั้งปัจจัยบวกของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และปัจจัยลบด้านเงินเฟ้อ ทำให้คนมีความต้องการใช้เงิน ทั้งด้านการค้าขาย และคนที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ณ เดือน พ.ค. 2565 ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างทะเบียนรถอยู่ที่เกือบ 2 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2564 ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จากช่วงปี 2563-2564 ที่มีการหดตัว -2%

“ถ้าดูการขยายตัวจะพบว่า กลุ่มธนาคารเติบโตประมาณ 5% ส่วนน็อนแบงก์เติบโตราว 10% จะเห็นว่าสัดส่วนสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ประมาณ 80% จะมาจากกลุ่มน็อนแบงก์ แต่กลุ่มธนาคารเริ่มเห็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ดี จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบความสามารถการชำระหนี้ อาจเห็นผู้ประกอบการปรับนโยบายเครดิตกำหนดรายได้ขั้นต่ำผู้กู้ที่สูงขึ้น และปรับลดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของผู้กู้ลง

ขณะที่การแข่งขันอัตราดอกเบี้ยพิเศษจะลดลงเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จะเน้นความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ และอาจจะเห็นภาพธนาคารหันไปเจาะเซ็กเมนต์ใหม่ เช่น ตลาดกลุ่มล่างที่วงเงินไม่สูงมาก

นายธีรชาติกล่าวว่า ลีสซิ่งกสิกรไทยก็ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จับกลุ่มตลาดที่ต้องการความรวดเร็ว และไม่มีความพร้อมด้านเอกสารรายได้ ชื่อว่า “รถช่วยได้ เมื่อช็อต ไม่ใช้เอกสารรายได้” โดยให้วงเงินสินเชื่อราว 60-70% ของมูลค่าหลักประกัน (LTV) ส่วนกลุ่มที่มีเอกสารรายได้จะยังคงให้วงเงินสูงที่ราว 90% หรือกลุ่มที่มีการโอนเล่มทะเบียนให้วงเงินได้สูงถึง 100% ซึ่งการออกผลิตภัณฑ์หลากหลายจะช่วยบริษัทให้สามารถบริหารผลตอบแทน ในภาวะที่ต้นทุนปรับสูงขึ้นได้

สำหรับสินเชื่อรถช่วยได้ปีนี้ 5 เดือนแรกสามารถขยายยอดสินเชื่อคงค้างได้ 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับต่ำ 1.6-1.8%

“คุณภาพหนี้รีไฟแนนซ์รถต่ำกว่ากลุ่มตลาดรถใช้แล้ว และตลาดยังมีการขยายตัว ซึ่งดึงดูดการแข่งขันด้านการเข้าถึงลูกค้าการบริการ และเราได้เปิดช่องทาง K PLUS ให้ลูกค้าที่สนใจ เพิ่มจากการมาที่สาขา”

นายคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สินเชื่อคาร์ ฟอร์ แคช ของกรุงศรี เป็นสินเชื่อที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี โดยในปีนี้ลูกค้ายังคงมีความต้องการใช้สินเชื่อต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวน และมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในปีนี้ กรุงศรี ออโต้ ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อ คาร์ ฟอร์ แคช ให้มียอดคงค้างอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 6%

“ช่วง 4-5 เดือนแรก ยังสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่สัญญาณผิดนัดชำระหนี้ยังคงเป็นปกติ เอ็นพีแอลไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” นายคงสินกล่าว