เดจาวู อดีตที่อาจกลับมา เขย่าเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลก
คอลัมน์ : Next Normal กับ ดร.รักษ์
ผู้เขียน : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร EXIM BANK

ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งทางสำหรับปี 2565 ซึ่งในช่วงต้นปีถือเป็นปีแห่งความหวังว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเริ่มคลี่คลาย หลายประเทศจะกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง หลังมีการฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงมากขึ้น แต่ยังไม่ทันพ้นไตรมาสแรก เหตุการณ์ก็กลับตาลปัตร หลังจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น และได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกผ่านเงินเฟ้อ

และยังถือเป็นเชื้อไฟที่อาจเร่งให้เกิด “เดจาวู” (Dejavu) หรือวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอาจย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ดังนี้

– วิกฤตแก๊งลูกหมู หรือวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน) ที่เคยทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนปี 2555 และปี 2556 หดตัว 0.9% และ 0.2% ตามลำดับ อาจย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีถึง 0.5% มากกว่าที่ตลาดคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.9%

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาล (bond yield) 10 ปีของยุโรปขยับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม PIIGS (ยกเว้นไอร์แลนด์) ที่ยังมีปัญหาการคลังเรื้อรัง ทั้งหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงกว่า 100% และยังขาดดุลการคลังต่อเนื่อง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระหนี้เดิม และเพิ่มต้นทุนการระดมทุนในระยะถัดไปของประเทศเหล่านี้ ซึ่งอาจเข้ามาซ้ำเติมวิกฤตพลังงานและเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น โดยเฉพาะหากรัสเซียหยุดส่งก๊าซให้ยุโรป

– วิกฤตน้ำมันที่เคยเกิดขึ้นที่สหรัฐในปี 2522 มีตัวบ่งชี้หลายตัวที่คล้ายกับปัจจุบัน โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นของวิกฤตที่มีต้นตอมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยในครั้งนั้นได้เกิดการปฏิวัติในอิหร่าน และสงครามอิหร่าน-อิรักที่ส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกลดลง ผลักดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มจากไม่ถึง 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขึ้นไปแตะ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

และเร่งให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงถึงกว่า 14% นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุการณ์ inverted yield curve ขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนสิงหาคม 2521 และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐปี 2523 หดตัว 0.3% ในที่สุด

สถานการณ์ดังกล่าวเหมือนฉายภาพซ้ำกับปัจจุบัน ที่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงถึง 9.1% สูงสุดในรอบ 41 ปี ขณะเดียวกันก็เกิด inverted yield curve ขึ้นในเดือนเมษายน 2565 และต้นเดือนกรกฎาคม 2565 จนทำให้ล่าสุดเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) แล้ว

หลัง GDP ไตรมาส 2 ปี 2565 ออกมาหดตัว 0.9% ต่อเนื่องจากที่หดตัว 1.6 ในไตรมาส 1 ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องจับตามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐในระยะถัดไปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบเต็มรูปแบบ (full-year recession) หรือไม่ เพราะก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าปัจจุบันตลาดแรงงานสหรัฐยังแข็งแกร่งจากอัตราว่างงานที่อยู่เพียง 3.6% ต่ำกว่าในปี 2523 ที่อยู่สูงถึง 8%

– วิกฤตการเงินในเอเชียปี 2540 ที่เคยทำให้หลายประเทศในเอเชียประสบวิกฤตค่าเงินและปัญหาหนี้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่ผูกค่าเงินไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ ข้อสังเกตคือ ในตอนนั้นเศรษฐกิจสหรัฐก็เติบโตอย่างร้อนแรงถึง 4.5% และหนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นกว่า 10% เหมือนในปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศที่ผูก (peg) ค่าเงินไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐต้องใช้เงินทุนสำรองเข้าแทรกแซง เพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ ซึ่งทำให้ทุนสำรองร่อยหรอจนเกิดวิกฤต

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศที่ peg ค่าเงินไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐเกือบ 40 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และแคริบเบียน รวมถึงฮ่องกง นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง

โดยจากข้อมูลของ World Bank ปี 2563 พบว่าหลายประเทศมีสัดส่วนเงินทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศไม่ถึง 30% อาทิ ปานามา เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ เบลีซ เอริเทรีย เป็นต้น เทียบกับไทยที่อยู่สูงราว 130%

ซึ่งหากเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าต่อเนื่องอย่างเช่นในปัจจุบัน ก็อาจทำให้ประเทศเหล่านี้สุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาขาดแคลนเงินทุนสำรอง หรือวิกฤตหนี้ได้เช่นกัน

สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตข้างต้นไม่ได้หมายความว่าเรากำลังจะเห็นเศรษฐกิจของหลายประเทศเข้าสู่ภาวะ recession เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนะครับ แต่ผมแค่อยากเตือนให้ผู้ประกอบการไทยไม่ประมาท และควรติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK