ธปท. เผยกำไรแบงก์ Q2 อยู่ที่ 6.47 หมื่นล้าน อานิสงส์สินเชื่อโต-ค่าใช้จ่ายลด

ธปท.เผยผลการดำเนินงานระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/65 มีกำไรสุทธิ 6.47 หมื่นล้านบาท เงินกองทุน-สำรองอยู่ในระดับสูง พร้อมหนุนกลไกเศรษฐกิจ-อุ้มลูกหนี้ ด้านสินเชื่อโต 6.3% หลังความต้องการสินเชื่อธุรกิจพุ่ง 8% ระบุ หนี้เสียปรับลดลงเหลือ 2.88% หรืออยู่ที่ 5.27 แสนล้านบาท ย้ำเกาะติดกลุ่มเปราะบาง-รายได้น้อย

วันที่ 16 สิงหาคม 2565 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสที่ 2/65 ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่จำนวน 6.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 7.2%

โดยหลักจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองไว้ในระดับสูงตลอดช่วงโควิด-19

ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นโดยหลักจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้เงินปันผล ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets : ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.11% จากไตรมาสก่อนที่ 0.87%

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.51% จากไตรมาสก่อนที่ 2.45% หากเทียบกับภูมิภาคถือว่าอยู่ในระดับกลาง

โดยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงที่ 19.6% หรือคิดเป็น 3 ล้านล้านบาท เงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 166.6% ซึ่งมีเงินสำรองอยู่ที่ 9.09 แสนล้านบาท และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio : LCR) อยู่ที่ 185.5% และอัตราสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D) อยู่ที่ 93.8%

ขณะที่ในส่วนของสินเชื่อมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 6.3% มาจากความต้องการสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญโดยขยายตัว 8% หากดูไส้พบว่า สินเชื่อรายใหญ่ขยายตัว 10.7% และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขยายตัว 0.9% (หากไม่รวมสินเชื่อซอฟต์โลน-ฟื้นฟูขยายตัว 0.1%)

ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคภาพรวมขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 1/65 อยู่ที่ 3.3% มาอยู่ที่ 3% ในไตรมาสที่ 2/65 โดยสินเชื่อบ้านขยายตัว 2.4% สินเชื่อรถยนต์ทรงตัว 0.1% สินเชื่อบัตรเครดิตเติบโตเพิ่มขึ้น 8.2% ตามยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ที่ปรับเพิ่มขึ้น และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 6% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภาพรวมปรับลดลงจาก 2.93% มาอยู่ที่ 2.88% หรือคิดเป็นยอดคงค้าง 5.27 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์

โดยเอ็นพีแอลสินเชื่อรายใหญ่ปรับดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ขณะที่เอสเอ็มอีทรงตัวอยู่ที่ 7.04% และอุปโภคบริโภคหนี้เสียปรับลดลงทุกพอร์ตจาก 2.78% มาอยู่ที่ 2.69%

“ระบบแบงก์มีความเข้มแข็ง มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ธนาคารพาณิชย์ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อเพื่อดูแลคุณภาพสินเชื่อโดยรวมอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี แม้เอ็นพีแอลจะปรับลดลง แต่ ธปท.ยังคงติดตามกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ต่ำและผันผวน ทั้งลูกค้ารายย่อย และเอสเอ็มอีที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่สูง และต้นทุนการเงินขาขึ้นอย่างใกล้ชิด”