คลังลุยแก้กฎหมาย กอช. เพิ่มเงินสมทบรับสังคมสูงวัย

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง ลุยแก้กฎหมาย กอช.-กฎหมายบำนาญแห่งชาติ รองรับสังคมสูงวัย พร้อมสั่งการบ้านธุรกิจประกัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ 3 เรื่องหลัก

วันที่ 2 กันยายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาแก้กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอหลังจากที่เกษียณอายุ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้อีก ส่วนจะจำนวนเท่าไหร่นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติได้ภายในปี 2565 นี้

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุด้วย เนื่องจากประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับชีวิตของประชาชน

“การเพิ่มเงินเดือนให้สมาชิก กอช.หลังวัยเกษียณ เป็นแนวคิดที่จะดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ จะได้มีเงินเลี้ยงดูแลตัวเองหลังอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงแม้วัยเกษียณไปแล้ว แต่ยังทำงานได้ และยังมีเงินเดือนจาก กอช.มาสมทบแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน”

นายอาคมกล่าวว่า ยังได้มอบโจทย์ให้ธุรกิจประกันภัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ได้แก่ 1.ประกันสุขภาพ ซึ่งตั้งแต่โควิด 2 ปีที่ผ่านมา ประกันชึวิตก็เติบโตขึ้น เพราะประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงกันมากขึ้น ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของธุรกิจประกัน ที่จะต้องออกผลิตภัณฑ์มาสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

2.การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะโรงงานภาคเอกชน ที่นับวันยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นโอกาสของธุรกิจประกันที่จะพิจารณารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์มากขึ้น

“ได้ให้การบ้านธุรกิจประกันไปพิจารณาผลิตภัณฑ์ประกันด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ซึ่งหากมีประกันภัยในด้านนี้ ประชาชนก็จะมั่นใจ เรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

3.เทคโนโลยี ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจประกันภัย จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ธุรกิจประกันก็มีการพัฒนาการซื้อขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผ่านแอปพลิเคชั่นบ้างแล้ว

ขณะที่การประกันภัยในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลนั้น โดยทั่วไปแล้วจะมีประกันความเสียจากผู้รับเหมา หากโครงการนั้น ๆ มีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับเหมาจะต้องดูแล ส่วนกรณีที่ผู้รับเหมาส่งมอบงานโครงการให้รัฐบาลแล้ว ก็จะเป็นภาระงบประมาณในการดูแล ซึ่งโอกาสและความเสียหายเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย แต่ถ้าหากต้องทำประกันภัยก็เป็นภาระงบประมาณเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะมีการทำประกันภันโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ก็ต้องวิเคราะห์ให้ดี ส่วนโครงการไหนที่รัฐบาลทำร่วมกับเอกชน ก็มีการประกันภัยอยู่แล้ว