ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 17 ปี

เงินบาท ดอลลาร์

ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 17 ปี ปิดตลาดที่ระดับ 37.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศนักวิเคราะห์กังวลเกี่ยวกับการลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 12-19 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (12/9) ที่ระดับ 36.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/9) ที่ระดับ 36.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการเคลื่อนไหวของเงินสกุลหลักในภูมิภาคเนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แม้ครั้งนี้คาดว่าจะปรับขึ้น 0.75% แต่ครั้งถัด ๆ ไปน่าจะปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง

ขณะที่ค่าเงินบาทเองนั้นยังขาดปัจจัยภายในประเทศในการชี้นำตลาด โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะระดับ 108.7 เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดอลลาร์พุ่งขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่โดยถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดีในช่วงกลางสัปดาห์ถึงท้ายสัปดาห์ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ประจำเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายปี ขยายตัวที่ระดับ 8.3% สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ 8.1% และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 0.1% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.1% และดัชนีราคผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานประจำเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบเป็นรายปีขยายตัวที่ระดับ 6.3% สูงกว่านักวิเคราะห์คาดที่ 6.1% และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขยายตัวที่ระดับ 0.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ 0.3%

โดยตัวเลขดังกล่าวส่งสัญญาณว่าสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง และนักลงทุนเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว เพื่อที่จะสกัดเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมาย

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยลดลง 0.1% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวลง 0.4% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 8.7% ในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.8% จากระดับ 9.8% ในเดือนกรกฎาคมการชะลอตัวของดัชนี PPI มีสาเหตุจากการดิ่งลงของราคาพลังงาน อย่างไรก็ตามทิศทางหลักของดอลลาร์สหรัฐ ยังคงแข็งค่า

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกในเดือนสิงหาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 213,000 ราย โดยตลาดยังจับตาดูการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้การประมาณการล่าสุด Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% สู่ระดับ 3.25-3.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักวิเคราะห์ให้ความกังวลเกี่ยวกับการลดลงอย่างรวดเร็วของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อาจส่งผลต่อความสามารถในการแทรกแซงค่าเงินบาทในอนาคต หากค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินระดับที่สามารถยอมรับได้

แม้ว่าล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ผันผวนของตลาด ว่ายังไม่มีความกังวลเรื่องการอ่อนค่าของค่างินบาท เนื่องจากยังคาดการณ์ว่า จะมีเงินจากนักลงทุนไหลเข้ามายังประเทศไทย ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.28-37.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (12/9) ที่ระดับ 1.0072/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/9) ที่ระดับ 1.0094/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมที่มีขึ้นในวันพฤหัสบดี (8/9) ที่ผ่านมา โดยถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในรอบ 11 ปี

นอกจากนั้นแล้วค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ออกมาสนับสนุนให้อีซีบีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไป โดยมีแหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบีมองว่ามีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นที่อีซีบีจำเป็นจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นสู่ระดับ 2% หรือสูงกว่านั้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากอีซีบีเพิ่งปรับขึ้นอัตราเงินฝากจาก 0% สู่ 0.75% ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

โดยนายโยคิม นาเกล ประธานธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบก์) ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสถานีวิทยุของเยอรมนีในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ถ้าหากสถานการณ์ด้านราคาผู้บริโภคยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป “อีซีบีก็จำเป็นจะต้องดำเนินขั้นตอนที่ชัดเจนต่อไป”

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงมีความกังวลในเรื่องสถานการณ์ด้านพลังงานในยุโรปอยู่เป็นบางช่วง โดยขณะนี้ผู้นำยุโรปพยายามวางแผนรับมือกับการที่รัสเซียอาจจะยุติการส่งออกก๊าซธรรมชาติสู่ยุโรปในอนาคต โดยมีการคาดการณ์กันว่า การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานในช่วงนี้อาจจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์จลาจลในยุโรป, ส่งผลให้มีการปันส่วนพลังงาน และส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปได้ใช้เงินหลายแสนล้านยูโรในการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้บริโภคในช่วงนี้

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยุโรปปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ ส่งผลให้มีแรงเทขายสกุลเงินยูโรและเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจจากสถาบัน ZEW เดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ -60.7 ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ระดับ -58.3 รวมถึงดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม หดตัวที่ระดับ 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.0% ซึ่งตัวเลขข้างต้นได้บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยของยุโรป

นายบรูโน เลอแมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลังฝรั่งเศสจะไม่ประสบกับภาวะถดถอย แม้รัฐบาลได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสำหรับปี 2566 ทั้งนี้นายเลอแมร์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีนิวส์ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปรับเพิ่้มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2565 เป็น 2.7% จากเดิมที่ 2.5% อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2565 สู่ระดับ 1% จากการประมาณการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.4%

ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 0.9954-1.0197 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 0.9984/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (12/9) ที่ระดับ 142.43/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/9) ที่ระดับ 141.68/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นภายหลังจากที่อ่อนค่าแตะระดับ 144.95 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 24 ปี เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากความแตกต่างในการดำเนินนโยบายระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ

โดยคาดว่านักลงทุนจะจับตาแถลงการณ์เพิ่มเติมของทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่อาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการอ่อนค่าของเยน ตามการให้ความเห็นของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวในวันศุกร์ (9/9) ซึ่งระบุว่า สกุลเงินที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ไม่เป็นผลดีต่อบริษัทญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐหลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินเยน ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.14-144.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 143.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ