ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ดัชนีวัดค่าของเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงสุดในรอบ 20 ปี

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ดัชนีวัดค่าของเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐมองว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงปีหน้า เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่จะปรับลดลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 27 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/9) ที่ระดับ 37.85/37.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (26/9) ที่ระดับ 37.87/37.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจในโซนยูโรและอังกฤษทำให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นสูงซึ่งแสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าในการประชุมครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐยังมีแนวโน้มที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในระดับสูงอยู่ เพราะเช่นนั้นจึงทำให้ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและประเทศอื่นยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนเลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์

โดยที่ในวันจันทร์ที่ 26 กันยายน ประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาครีฟแลนด์ออกมาแถลงในเชิงนกเหยี่ยวที่สนับสนุนให้ดอลลาร์แข็งค่า โดยกล่าวถึงว่าทางธนาคารกลางยังคงมองว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยไปถึงปีหน้าและอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นมาในอดีตนั้นยังไม่เห็นถึงผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

การแถลงการณ์ครั้งนี้ยังไปในทิศทางเดียวกันกับประธานสาขาอื่น ๆ ที่ยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นมานั้นยังไม่มากพอ และจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นต่อโดยให้น้ำหนักความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อมากกว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.88-38.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/9) ที่ระดับ 0.9637/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อจันทร์ (26/9) ที่ระดับ 0.9640/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สกุลเงินยูโรอ่อนหลังจากนักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจในโซนยูโรที่กำลังพบปัญหาเงินเฟ้อที่สูงในเศรษฐกิจที่กำลังพบกับปัญหาพลังงานด้วยนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่การปรับดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อนั้นจะทำให้เศรษฐกิจในโซนยูโรหดตัวลง

โดยเมื่อจันทร์ที่ 26 กันยายนหน่วยวิจัยทางเศรษฐกิจในกรุงเบอลินเปิดเผยตัวเลขความมั่นใจในเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ปรับตัวลงจากเดือนที่แล้วซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกังวลของผู้ผลิตในเยอรมนีถึงเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งนักลงทุนมองปัจจัยการหดตัวของเศษฐกิจในโซนยูโรนั้น รวมไปถึงปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนถึงการหดตัวของเศรษฐกิจในโซนยูโร จึงทำให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น สินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9665-0.9665 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9620/0.9623 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวขอค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/9) ที่ระดับ 144.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (26/9) ที่ระดับ 144.08/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ประธานธนาคารกลางของญี่ปุ่น นายคุโรดะ ออกมาแถลงการณ์ว่าทางการญี่ปุ่นยังเลือกที่คงทิศทางของนโยบายทางการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายจากครัวเรือนในประเทศยังจะปรับตัวสูงขึ้นอยู่ แม้ว่าตัวเลขดัชนีของผู้ผลิตในญี่ปุ่นจะปรับตัวลงจากเมื่อเดือนที่แล้วก็ยังอยู่ในระดับที่แสดงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ

การคงนโยบายการเงินของญี่ปุ่นในการประชุมครั้งที่แล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายนนั้น ทำให้ตลาดมองว่าสกุลเงินเยนนั้นยังคงมีทิศทางที่อ่อนข้างไปต่อ ถึงแม้จะมีการเข้าแทรกแซงจากธนาคารญี่ปุ่นในอาทิตย์ที่แล้ว เพื่อควบคุมค่าเงินเยนทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.05-144.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.39/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทย (28/09), ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคสหรัฐ (27/09), ตัวเลขจำนวนการสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐ (27/09), ตัวเลขจีดีพีของสหรัฐ (29/09), ตัวเลขรายจ่ายครัวเรือนสหรัฐ (PCE 30/09), ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ของโซนยูโร (30/09)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/-6.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.95/-6.7 สตางค์/ดอลาร์สหรัฐ