ผู้ว่าการ ธปท. เผยปล่อยค่าเงินบาทตามกลไกตลาด ยันดูแลใกล้ชิดหากผันผวนเร็ว-แรง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยันปล่อยค่าเงินบาทตามกลไก ยันดูแลทั้ง 2 ทางไม่ฝืนตลาด ชี้เกาะติดใกล้ชิด พร้อมเข้าไปดูแลหากผันผวนเร็ว-แรงผิดปกติ ย้ำบาทอ่อนมาจากดอลลาร์แข็งค่า 18%

วันที่ 29 กันยายน 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นค่าเงินบาทที่อ่อนค่าหลุด 38 บาทต่อดอลลาร์นั้น ยอมรับว่าเป็นห่วง เพราะ ธปท.ไม่อยากเห็นการผันผวนที่สูงและเร็วเกินไปอย่างผิดปกติ อย่างไรก็ดี ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และมีการเข้าไปดูแลในตอนที่มีความผันผวนสูงผิดปกติ เนื่องจากไม่อยากให้ไปกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การดูแล ธปท.จะไม่เข้าไปฝืนตลาด เพราะเราไม่สามารถฝืนตลาดได้ และปัจจุบันไทยไม่ได้ใช้ระบบกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งไทยมีบทเรียนจากปี 2540 แต่เราเน้นเข้าไปดูแลความผันผวนที่ผิดปกติจนกระทบเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกบางส่วนไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging)

ดังนั้น ธปท.จะเข้าไปดูแลทั้ง 2 ทาง แต่ไม่ได้อยากเห็นว่าจะต้องอยู่ระดับใด หรือเท่าไร ซึ่งปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าตามการเคลื่อนไหวของดอลลาร์ ดังนั้น เราไม่สามารถทำอะไรกับดอลลาร์ และไม่ควรทำด้วย

“สมมติเราต้องการเกาะดอลลาร์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.เราจะต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ เช่น ฮ่องกงที่ผูกค่าเงินดอลลาร์ก็ต้องทำนโยบายการเงินเหมือนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ต้องขึ้น 0.75% ซึ่งไทยถ้าต้องทำแบบนั้นจะเหมาะกับบริบทไทยหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจเราไม่ร้อนแรงเหมือนสหรัฐ และยังมีกลุ่มเปราะบาง จึงไม่เหมาะกับบริบทไทย และปัจจัยพื้นฐานไทย

และ 2.ถ้าทำแล้วเงินบาทจะแข็งค่าเทียบกับทุกคนในโลก เราจะแข็งกว่าเงินเยน 20% ซึ่งจะไม่ช่วยขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่เหมาะกับปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้น การฝืนแบบนี้ไม่เหมาะ จึงต้องปล่อยไปตามตลาด เราคิดตามใกล้ชิด และเข้าไปดูความผันผวนที่มันผิดปกติ ซึ่งตอนนี้ตลาดโลกผันผวนผิดปกติ และไม่เฉพาะแค่เงินบาท แต่เป็นสกุลหลักผันผวนทั่วโลก”

สำหรับผลกระทบจากการอ่อนค่าเงินบาทนั้น ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า หากดูการอ่อนค่าของเงินบาท หลัก ๆ มาจากการแข็งค่าดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเป็นหลัก โดยแข็งค่าขึ้น 18% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เงินสกุลอื่น ๆ อ่อนค่าลง เช่นเทียบกับเงินปอนด์อังกฤษ อ่อนค่า 20% เยน-ญี่ปุ่นกว่า 20% ขณะที่ไทยอ่อนค่า 12% ถือว่าอ่อนค่าระดับกลาง หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ และยังอ่อนค่าน้อยกว่าเกาหลี 17% ฟิลิปปินส์ 13% และไต้หวัน 13% และใกล้เคียงเงินหยวนที่ 11% แต่อาจอ่อนค่ามากกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามปัจจัยโลก ปัจจัยจากดอลลาร์เป็นหลัก

และการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลกระทบทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงหรือไม่ อดีตที่ผ่านมา ตัวนี้ก็เป็นตัวที่ ธปท.มีการติดตามใกล้ชิด ซึ่งก็พบว่าไม่ได้มีผลมากนัก โดยหากดูการส่งผ่านจากเงินบาทไปสู่เงินเฟ้อ พบว่าเงินบาทอ่อนค่าทุก 1% ทำให้เงินเฟ้อทั่วไป 0.06% ซึ่งภาพแตกต่างกับบางประเทศที่เงินอ่อนค่า เงินเฟ้อมาทันที

นอกจากนี้ หลายคนเป็นห่วงว่าการที่เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงมาก และอาจซ้ำรอยปี 2540 หรือไม่ กรณีนี้ไม่ใช่ เพราะวันนี้ด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง โอกาสเกิดวิกฤตเหมือนต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา และ สปป.ลาวโอกาสที่จะเกิดขึ้นที่ไทยน้อยมาก เพราะหลายประเทศที่เจอวิกฤต มาจากหนี้ต่างประเทศอยู่ระดับสูง ทุนสำรองฯน้อย เหมือนปี 2540 ที่ทุนสำรองฯ ของไทยน้อย หนี้ต่างประเทศมาก แต่ปัจจุบัน ทุนสำรองฯ ของไทย สูงกว่าหนี้ต่างประเทศกว่า 3 เท่า ดังนั้น โอกาสที่จะขาดเสถียรภาพมีต่ำ

และหากดูเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ของไทยในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นภาพของเงินไหลออก เพราะวันนี้มีต่างชาติซื้อสุทธิอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ แม้จะไหลออกในบอนด์บ้างเล็กน้อย ดังนั้น ไม่มีอะไรน่ากลัวจากฝั่งเงินทุนเคลื่อนย้าย

นอกจากนี้ อีกด้านที่สะท้อนเสถียรภาพด้านราคา เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งไม่แปลก เพราะจากเคยมีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน มาเหลือ 9 ล้านคนปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดต้องลดลง แต่เบ็ดเสร็จแล้ว การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดุลปีนี้ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นไม่ถึง 2.8% ของจีดีพี ต่างจากปี 2540 ที่ไทยขาดดุลฯ ถึง 8% ของจีดีพี ขณะที่ทุนสำรองของไทยมีถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น ไม่น่ากังวลต่อเสถียรภาพ

“ผลต่อค่าเงินบาทอ่อนเบ็ดเสร็จอาจกระทบการนำเข้า กระทบคนกู้ แต่ดูโดยรวมยังไม่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ เพราะเราต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งเราไม่อยากเห็นค่าเงินบาทผันผวน ก็คงไม่ และทำให้เศรษฐกิจสะดุดก็ไม่ แต่หากการส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานก็ไม่”