บาทผันผวนในกรอบจำกัด ตลาดจับตาเงินเฟ้อ-ผลเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ

เงินบาท-ตลาดหุ้นไทย

เงินบาทผันผวนในกรอบจำกัด ขณะที่ตลาดจับตาเงินเฟ้อ-ผลเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ รวมถึงการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนตุลาคมของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/11) ที่ระดับ 36.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (09/11) ที่ระดับ 36.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 110.54 โดยเพิ่มขึ้น คิดเป็น 0.83% เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ก่อนที่จะรู้ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ และการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนตุลาคมของสหรัฐ

โดยสำนักข่าว CNN รายงานว่า ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งกลางเทอมล่าสุด พบว่าพรรครีพับลิกันคว้าที่นั่งในวุฒิสภามากกว่าพรรคเดโมแครต โดยอยู่ที่ 49:48 จากจำนวนทั้งสิ้น 100 ที่นั่ง โดยทั้งสองพรรคต้องการได้มากกว่า 50 ที่นั่งจึงจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ส่วนในสภาผู้แทนราษฎร ผลการนับคะแนนล่าสุด พบว่า พรรครีพับลิกันสามารถคว้าที่นั่งมากกว่าพรรคเดโมแครตเช่นกัน โดยอยู่ที่ 203:187 จากจำนวนทั้งสิ้น 435 ที่นั่ง โดยพรรคที่ได้ 218 ที่นั่งจะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.8% หลังจากปรับตัวขึ้น 1.4% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 24.1% ในเดือนกันยายน และยอดขายในภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากทรงตัวในเดือนสิงหาคม

นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจจะใช้เวลา 1.31 เดือนในการขายสินค้าจนหมดสต๊อก ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนสิงหาคม นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปจะออกมาที่ระดับ 7.9% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 8.2% ในเดือนกันยายน และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน จะออกมาที่ระดับ 6.5% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 6.6% ในเดือนกันยายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยผลสำรวจเดือนตุลาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 108.86 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 60.5% จากเดือนก่อนหน้าขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือความคาดหวังต่อการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร (CEO Survey) ต่อ Economic Outlook ปี 2565-2566 ว่า CEO เปลี่ยนมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่หรือ 80% ของ CEO คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2565 และ 2566 จะดีขึ้นโดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตที่ 2-3% ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ การท่องเที่ยว การส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 ที่ระดับ 3-4% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.74-36.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/11) ที่ระดับ 1.0024/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (09/11) ที่ระดับ 1.0048/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดยังคงวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ

ผลสำรวจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) บ่งชี้ว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อของกลุ่มผู้บริโภคในยูโรโซนยังคงปรับตัวขึ้นในเดือนกันยายน แม้การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจและรายได้ลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9992-1.0042 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9991/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/11) ที่ระดับ 146.18/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (09/11) ที่ระดับ 145.71/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างตลาดรอติดตาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.02-146.49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.33/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (10/11), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคมของสหรัฐ (10/11) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพฤศจิกายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (11/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.25/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -15.6/-12.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ