นักวิเคราะห์แนะ! ลดพอร์ตลงทุนหุ้นไทยรอดูสถานการณ์ หลังหุ้นไทยดิ่งตามตลาดหุ้นสหรัฐที่ลงแรง

นักวิเคราะห์แนะลดพอร์ตลงทุนหุ้นไทยกำเงินสดรอดูสถานการณ์ หลังหุ้นไทยร่วงตามตลาดหุ้นสหรัฐที่ลงแรง เอฟเฟ็กต์นักลงทุนเก็ง “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ขณะที่หุ้นเวียดนามร่วงหนักสุดในภูมิภาค ด้านซิตี้แบงก์เตือนรับมือเงินทุนไหลเข้า-บาทแข็ง คาดจีดีพีไทยปี’61 โต 3.8%

นายพบชัย ภัทราวิชญ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (5-6 ก.พ.) ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลดลงราว 2.49% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงสอดคล้องกับตลาดหุ้นอื่น ๆในภูมิภาคเอเซีย น่าจะเป็นผลกระทบจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับฐานลงแรง โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2 วันรวมกันลดลงกว่า 7% และ S&P500 ลดลงรวม 6.13% สาเหตุหลัก ๆมาจากความวิตกกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่คาดว่าจะถี่มากขึ้น จากเดิมที่คาดการณ์ปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้

“ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 30 ปีที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3% ซึ่งอยู่ในระดับสูงนับตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีที่แล้ว จึงส่งผลให้มีการขายทำกำไรหุ้นออกมาจำนวนมาก การปรับฐานลงแรงน่าจะเป็นไปตามเซ็นติเม้นจากต่างประเทศ “นายพบชัยกล่าว

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียที่ปรับฐานลงค่อนข้างแรงในช่วง 2 วัน ได้แก่ ตลาดหุ้นเวียดนาม ลดลงกว่า 8.46% , ญี่ปุ่น -7.15%,ไต้หวัน -6.49%,ฮ่องกง -6.15% ,สิงคโปร์ -3.77%,6.ฟิลิปปินส์ -2.95%,มาเลเซีย -2.92%,เกาหลีใต้-2.85%,ไทย-2.49% และอินโดนีเซีย 2.15%

นายพบชัยกล่าวอีกว่า รอบนี้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานในระยะสั้น จึงคาดว่าดัชนีฯไม่น่าจะลงไปหลุดระดับ 1,553 – 1,780 จุด เนื่องจากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปและยังไม่มีอะไรที่น่ากังวล ถึงแม้ว่ากลุ่มนักลงทุนต่างชาติ จะมีแรงขายออกมามาก ซึ่งช่วงต้นปี-5ก.พ. ขายสุทธิกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทสวนทางกับกลุ่มนักลงทุนในประเทศ

นอกจากนี้สำหรับการลงทุนในช่วงนี้แนะรอดูสถานการณ์ออกไปก่อน เนื่องจากภาวะตลาดช่วงนี้คาดการณ์ได้ค่อนข้างยากลำบาก เพราะตลาดยังอิงกับปัจจัยต่างประเทศเยอะโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯและราคาน้ำมันในตลาดโลก

นายพบชัย ภัทราวิชญ์

“กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้แนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นลงเหลือ 40% จากก่อนหน้านี้ให้น้ำหนัก 50% หรืออีกนัยหนึ่งคือให้ถือเงินสดเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิม 50% และให้ขายหุ้นที่เกินมูลค่าที่เหมาะสม (Fair Value) หรืออัพไซด์จำกัด โดยให้เลือกลงทุนใน 3 กลุ่มหลักคือ 1. หุ้นปันผลสูงที่มีความผันผวนต่ำ ซึ่งยังคงเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ 2. หุ้นส่งออก เพราะเป็นกลุ่มที่ underperform มานานกว่า 2 ปี และ 3. หุ้นประกันชีวิต เพราะแนวโน้มผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลที่น่าจะปรับขึ้นตามตลาดเงินสหรัฐ จะช่วยลดความกังวลต่อการเพิ่มสำรองเบี้ยประกัน และยังสงผลบวกต่อผลตอบแทนจากต่อพอร์ตการลงทุนในระยะถัดไป” นายพบชัยกล่าว

นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลกซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทย ถือเป็นการปรับฐานหลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นได้มีการปรับตัวขึ้นสูงไปก่อนหน้านี้ ซึ่งในระยะข้างหน้า เชื่อว่าจะเห็นตลาดหุ้นยังไปต่อได้ โดยในส่วนของประเทศไทย น่าจะยังเห็นเงินทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ แต่ก็ทำให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

“ธนาคารคาดว่า จีดีพี (การขยายตัวของเศรษฐกิจ)ไทย ปี 2561 จะอยู่ที่ 3.8% เติบโตจากภาคการส่งออกและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำให้กำลังซื้อและความต้องการตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คาดการณ์ธุรกิจที่จะได้รับผลดีมีกำไรเพิ่มขึ้นคือ ธุรกิจธนาคาร สุขภาพ และสินค้าบริโภค”นายดอนกล่าว

อย่างไรก็ตาม การพักฐานของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกในรอบนี้ ไม่ใช่วิกฤตที่จะลุกลามต่อเนื่อง เพราะปัจจัยด้านพื้นฐานเศรษฐกิจยังเติบโตได้ในระยะยาว โดยคาดว่าจีดีพีโลกเติบโต 3.4% ซึ่งมีปัจจัยบวกจากประเทศต่างๆในหลายภูมิภาค เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและยุโรป นโยบายการลดภาษีในประเทศสหรัฐ และนักวิเคราะห์ของธนาคาร ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ทั่วโลกปี 2561 ไว้ที่ 9% แต่ก็ยังต้องจับมองประเด็นความผันผวนในตลาดหุ้น ความเสี่ยงการเมืองโลก ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) คาดว่าจะเกิดขึ้น 3 ครั้งภายในปีนี้ และยังคงปรับลดงบดุล (Balance sheets) อย่างต่อเนื่อง