ดอลลาร์ผันผวน ก่อนการโหวตร่างงบประมาณสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ ที่ระดับ 32.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ที่ (5/2) ที่ 31.51/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะมีโอกาสปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่จำนวน 3 ครั้งในปีนี้ โดยวานนี้ ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ พบว่าดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 59.9 ในเดือนมกราคม ขณะคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 56.5 หลังจากร่วงลงสู่ระดับ 55.9 ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตามองผลการโหวตร่างงบประมาณในวันนี้ (6/2) ทั้งนี้ หากสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณภายในเวลาเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดี (8/2) ตามเวลาสหรัฐ หรือเวลาเที่ยงของวันศุกร์ (9/2) ตามเวลาไทย สหรัฐ ก็จะเผชิญภาวะปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เกิดการชขัตดาวน์เป็นเวลา 3 วันในเดือนที่แล้ว

ส่วนความเคลื่อนไหวภายในประเทศ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ยังยืนยันเป้าการส่งออกไทยปี 61 เติบโตได้ 5.5% แต่คาดการณ์ว่าผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลให้สูญเสียรายได้จากากรส่งออกประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาท/ดอลลาร์) คิดเป็น 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของการส่งออกลดลงเหลือ 3.5% นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท.กล่าวว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มถดถอย หลังเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่พึ่งพาการรนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากสุด โดยเงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 11% และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าอีก 2.45% ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าแล้วพบว่ามีเพียงค่าเงินของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และมาเลเซียเท่านั้นที่แข็งค่ากว่าเงินบาท นอกนั้นค่าเงินอ่อนกว่าเงินบาททั้งสิ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องหาแนวทางแก้ไข เช่น การเจรจากับคู่ค้าเรื่องการกำหนดค่าเงินที่จะใช้ชำระค่าสินค้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.51-31.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรวันนี้ (6/2) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2384/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/2) ที่ 1.2460/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้าย อยู่ที่ 57.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 82 เดือน และสูงกว่าระดับ 55.8 ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของเยอรมนี เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.0 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 81 เดือน จากระดับ 58.9 ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.8 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 หรือในรอบเกือบ 12 ปี โดยสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 58.6 และสูงกว่าระดับ 58.1 ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1.2351-1.2434 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับย 1.2403/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนค่าเงินเยนในวันนี้ (6/2) เปิดตลาดที่ระดับ 109.16/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/2) ที่ระดับ 109.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สมาคมผู้นำเข้ายานยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ รถบรรทุก และรถโดยสาร นำเข้าในเดือนมกราคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% แตะที่ระดับ 21,254 เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.46-109.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ ได้แก่ ดุลการค้าสหรัฐ เดือนธันวาคม (6/2) ดุลการค้าฝรั่งเศส เดือนธันวาคม (7/2) ดุลการค้าเยอรมนี เดือนมกราคม (8/2) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (8/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.10/-1.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -1.00/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ