ดอลลาร์อ่อนค่าหลังเจอโรมส่งสัญาณชะลอดอกเบี้ย

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่าหลังเจอโรมส่งสัญาณชะลอดอกเบี้ย ระบุเฟดยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมากในการสกัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่นักลงทุนกังวลสถานการณ์โควิดระบาดในจีนที่อาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน -2 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (28/11) ที่ระดับ 35.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/11) เช่นเดียวกันกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ระดับ 35.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนที่มีจำนวนผู้ติดื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการประท้วงเรื่องมาตรการ Zero Covid ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีน

รวมทั้งอุปสงค์ด้านพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบที่อาจชะลอตัวลง ทำให้นักลงทุนในตลาดปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ภารกิจเฟดสกัดเงินเฟ้อ

โดยนายจอห์น วิลเลี่ยมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กกล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐนิวยอร์กว่า เฟดยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมากในการสกัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และเขาคาดว่าอัตราว่างงานจะพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด

นอกจากนี้ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวมาร์เก็ตวอตช์ว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และหลังจากนั้นควรจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี 2566 ไปจนถึงสิ้นปี 2567 เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

โดยนายบูลลาร์ด ยังคงเชื่อว่าการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับอย่างน้อย 5.00%-5.25% จากระดับปัจจุบันที่ 3.75-4.00% นั้นถือเป็นการคุมเข้มนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการฉุดเงินเฟ้อให้ลดลง

อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้เริ่มอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวปาฐกถาว่าด้วยนโยบายการเงินและการคลัง ที่สถาบันบรู้กกิงส์เมื่อวันพุธตามเวลาสหรัฐ

โดยระบุว่า เฟดจะชอลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนธันวาคม ขณะเดียวกันก็เตือนว่าภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อนั้นยังอีกยาวไกล และยังมีคำถามสำคัญหลายอย่างที่เฟดยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งรวมถึงคำถามที่ว่าอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องถูกปรับขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่เท่าใดและใช้ระยะเวลานานเท่าใด

ให้น้ำหนัก 25% เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เดือนธ.ค.

ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า หลังจากนายพาวเวลล์ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในงานเสวนาดังกล่าวแล้ว นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 25% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนธันวาคม เทียบกับช่วงก่อนที่นายพาวเวลล์แถลงที่นักลงทุนให้น้ำหนักสูงถึง 75%

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีออกมาในช่วงสัปดาห์นั้น สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลง 353,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.3 ล้านตำแหน่งในเดือนตุลาคม

ขณะที่ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่้มขึ้นเพียง 127,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 2.9% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ที่ 2.6% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.7%

อีกทั้งดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.0% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 6.3% ในเดือนกันยายน

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 0.3% หลังจากดีดตัว 0.5% ในเดือนกันยายน

ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ทั้งนี้ คาดว่านักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน หลังจากเพิ่มขึ้น 261,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนพฤศจิกายนจะทรงตัวที่ระดับ 3.7%

ส่งออกไทย ต.ค.หดตัวร้อยละ 4.4

สำหรับปัจจัยภายในประเทศในวันจันทร์ (28/11) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 21,772 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 4.4 ส่วนด้านการนำเข้า มีมูลค่า 22,368 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.1% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

ขณะที่การส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 หรือตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนตุลาคม มีมูลค่า 243,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ส่วนด้านการนำเข้ามีมูลค่า 258,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 15,561 ล้านดอลลาร์

ด้านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่จะกดดันการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 ไปจนถึงปี 2566 คือ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการ Zoro Covid ของจีนที่ยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์ยังคงเชื่อมั่นว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ระดับร้อยละ 4 ในค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างมากในวันพุธ (30/11) ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันทร์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน จะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และจะช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี’ 65 และ 66 ลดลงจากเดิมเล็กน้อย

กนง.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี65 โต 3.2%

โดย กนง.ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี’65 จะขยายตัวได้ 3.2% จากเดิมที่ 3.3% และปี’66 ขยายตัว 3.7% จากเดิม 3.6% ขณะที่ปี’67 จะขยายตัวได้ 3.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี’65 คาดว่าอยู่ที่ 6.3% เท่ากับประมาณการในครั้งก่อน ส่วนปี’66 อยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการครั้งก่อน และในปี’67 เงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่องไปที่ 2.1%

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า คือ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีจากประเทศเศรษฐกิจหลักอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยในประเทศ

และ 2.การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.75-36.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/12) ที่ระดับ 35.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (28/11) ที่ระดับ 1.0372/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/11) ที่ระดับ 1.0397/401 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายนออกมาที่ระดับ -40.2 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -39.5 ก่อนที่จะปรับตัวแข็งขึ้นในวันถัดมา

จากการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ดีดตัวขึ้นสู่ะดับ 93.7 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 92.7 ในเดือนตุลาคม และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 93.5 โดยถือเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

จับตาประชุม ECB 15 ธ.ค.

โดยการปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคบริการ โดยผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลง นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2565

โดยคาดว่า ทาง ECB จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นที่ระดับ 75 bps หรือร้อยละ 0.75 ตามที่ทางนายโรเบิร์ต โฮลซ์แมนน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ ECB ได้มีการส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ ค่าเงินยูโรมีกรอบระหว่าง 1.0288-1.0542 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/12) ที่ระดับ 1.110522/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (28/11) ที่ระดับ 138.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/11) ที่ระดับ 139.41/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนมีความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยจากสถานการณ์การประท้วงในจีน

ขณะที่ในวันอังคาร (29/11) กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นรายงานว่า อัตราว่างงานเดือนตุลาคมของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 2.6% ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับของเดือนกันยายน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.93-139.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/12) ที่ระดับ 134.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ