2022 ปีที่เงินเฟ้อสูง และการขึ้นดอกเบี้ย

เงินเฟ้อ
คอลัมน์ : นั่งคุยกับ ห้องค้า
ผู้เขียน : ภาณี กิตติภัทรกุล, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

ปี 2022 เป็นปีที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกเผชิญเงินเฟ้อที่สูง ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้หลังผ่านการระบาดโควิด-19

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญอย่างสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ที่สร้างความผันผวนและกระทบต่อตลาดโลกมาก

โดยเงินเฟ้อของหลายประเทศขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายสิบปี หรืออย่างยุโรปที่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ ธนาคารกลางสหรัฐ ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วถึง 375 bps

ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เคยทำมาก่อน และในหลายประเทศเห็นถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในระดับ 50 bps ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50-75 bps เกือบจะเป็นปกติของการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

ซึ่งปีนี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ารุนแรง ทำให้ค่าเงินประเทศอื่น ๆ เผชิญการอ่อนค่าที่มาก ทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่หลายธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อช่วยเหลือค่าเงินตัวเอง

ปี 2023 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากในหลายประเทศ ถึงขั้นอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ธนาคารกลางต่าง ๆ อาจต้องคงหรือปรับอัตราดอกเบี้ยลงด้วยซ้ำเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ และอาจเป็นปีที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาก ถึงแม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกเงินเฟ้ออาจจะยังค่อนข้างสูง และธนาคารกลางอาจจะยังขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในไตรมาสแรก

แต่หลังจากครึ่งปีหลังผลของการขึ้นดอกเบี้ยแรงในปีนี้ จากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และอุปสงค์ของการเปิดเมืองที่ชะลอลง

ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องคงหรืออาจเริ่มกลับหลังหันใช้นโยบายผ่อนคลายและค่าเงินดอลลาร์อาจจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดี การที่จีนมีแนวโน้มอาจเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจโลก

สำหรับไทยเองปีหน้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ต่างจากประเทศหลักของโลก โดยไทยคาดว่าได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะดีขึ้นและจำนวนนักท่องเที่ยวอาจสูงมากกว่า 20 ล้านคนก็เป็นได้ และยิ่งดีขึ้นหากจีนเปิดประเทศเร็ว

โดยดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวกในปีหน้า เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงกลับมาใกล้กรอบ ธปท. และค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปีหน้า