KTC แชมป์โกยยอดรูดบัตรซื้อประกัน 3 หมื่นล้านบาท

บัตรเครดิต

เคทีซีปักธงแชมป์ยอดรูดบัตรจ่ายค่าประกัน สิ้นปีนี้คาดสเปนดิ้งแตะ 3 หมื่นล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้าโตเพิ่ม 10% มั่นใจธุรกิจประกันฟื้นตัว “ขาขึ้น” ตามกำลังซื้อที่กลับมาหลังผ่านสถานการณ์ล็อกดาวน์โควิด ชี้เทรนด์ประกันมาแรงปีหน้ามีทั้ง “ประกันสุขภาพเหมาจ่าย-ประกันรถอีวี-ประกันเดินทาง-ประกันออมทรัพย์”

นายสุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ายอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตร (สเปนดิ้ง) ในหมวดประกันภัยสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เติบโต 5%

เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะครองแชมป์สเปนดิ้งเป็นอันดับหนึ่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 13% ของพอร์ตรีเทลสเปนดิ้ง จากการที่มีลูกค้ามารูดบัตรเครดิต เพื่อซื้อและชำระเบี้ยประกันคิดเป็นประมาณ 5-6 แสนคน ของฐานลูกค้าบัตรของบริษัทที่มีอยู่ทั้งหมด 2.5 ล้านคน

ขณะที่ในปี 2566 ตั้งเป้ายอดสเปนดิ้งส่วนนี้จะเติบโต 10% หรือมียอดใช้จ่ายรวมเป็น 33,000 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าธุรกิจประกันภัยเริ่มกลับมาอยู่ใน K-shaped (ขาขึ้น) แล้ว เนื่องจากสัญญาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในหมวดประกันภัยเติบโตสวนทางหมวดใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างมากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

จากความตื่นตระหนกของผู้คน ที่หันมาซื้อประกันเพิ่มสูงขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนมาถึงกลางปี 2564 ที่เป็นจุดตัด ช่วงล็อกดาวน์ในเดือน ก.ค. 2564 ทุกอย่างดิ่งลงทันที และต้องใช้เวลาเกือบปีกว่ากำลังซื้อลูกค้าจะกลับมา

“สิ่งที่เกิดขึ้น คือกำลังซื้อของลูกค้าหายไปจากผลพวงโควิด มีการทิ้งกรมธรรม์ไปหลายแสนฉบับ โดยใช้เวลาเกือบปีหรือประมาณไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ที่กว่าจะกลับมาได้ เช่นเดียวกับในแง่จำนวนลูกค้าที่ซื้อประกันในปี 2563 ถือว่าสูงกว่าสเปนดิ้งมาก

แต่พอมาถึงเดือน ก.ค. 2564 คนกลุ่มที่เคยซื้อประกันโควิด ค่าเบี้ย 399 บาท, 799 บาทต่อปี หายไปเกือบทั้งหมดเลย จากที่ได้พูดคุยกับหลาย ๆ พาร์ตเนอร์บริษัทประกัน เขาก็บอกว่าพยายามพูดคุยกับลูกค้าให้มาซื้อประกันสุขภาพต่อ แต่ก็มีไม่ถึง 10% ที่กลับมา แต่โชคดีว่าลูกค้าของเรายังใช้บริการอยู่เกือบ 20%” นายสุวัฒน์กล่าว

สุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล
สุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล

ทั้งสำหรับยอดสเปนดิ้งของเคทีซี ปัจจุบันแยกตามฐานลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A (มีรายได้ 100,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน) กลุ่ม B (มีรายได้ 40,000-99,000 บาทต่อเดือน) และกลุ่ม C (มีรายได้ 15,000-39,000 บาทต่อเดือน)

โดยวอลุ่มหลัก ๆ จะมาจากฐานลูกค้ากลุ่ม B และ C แต่กลุ่ม A จะเป็นกำลังหลักในการสร้างยอดใช้จ่ายเบี้ยประกันก้อนใหญ่ ๆ ให้กับบริษัท เพราะกำลังซื้อแทบจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบเลย แต่การชำระเบี้ยประกันเกิน 1 แสนบาทต่อปีเริ่มชะลอ เพราะสินค้าประกันออมทรัพย์ เริ่มให้ผลตอบแทน (IRR) ไม่จูงใจ ไม่มีการันตีผลตอบแทนที่ 3-4% เหมือนในอดีต

“ปัจจุบันหาโปรดักต์ใหม่ ๆ มาแทนที่แบบเดิมได้ยาก ประกอบกับมีกรมธรรม์ครบกำหนดชำระเบี้ยแต่ยังต้องคุ้มครองจนครบสัญญา (paid-up) จำนวนมากโดยเฉพาะผ่านแบงก์แอสชัวรันส์ ซึ่งเราเจอผลกระทบตรงนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นบิ๊กอิมแพ็กต์ของทั้งบริษัทประกันและเคทีซี นอกจากนี้ลูกค้าที่ซื้อประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ก็หายหมด เพราะผลตอบแทนของกองทุนปีนี้ไม่ดีเลย โดยรีเทิร์นที่มั่นใจว่าจะได้ 6-7% ปัจจุบันก็ติดลบกันหมด” นายสุวัฒน์กล่าว

นายสุวัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับกลยุทธ์ในปี 2566 คือ 1.การขยายพันธมิตรให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมีพันธมิตรบริษัทประกันและโบรกเกอร์ประกัน รวม 57 แห่ง 2.บุกช่องทางออนไลน์ โดยล่าสุดลงทุนทำเว็บไซต์เพื่อให้บริการออนไลน์ชื่อว่า KTC insure+

ซึ่งเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ประกันหลากค่ายหลายประเภทครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกสมาชิกยุคดิจิทัล โดยความพิเศษของช่องทางนี้คือลูกค้าที่คลิกซื้อจะได้ส่วนลดเบี้ยสูงสุด 15% ซึ่งสูงกว่าช่องทางอื่น ๆ

“เทรนด์ประกันในปี 2566 ประเมินว่าจะเป็นกลุ่มประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย และแบบขายพ่วงกับยูนิตลิงก์ ประกันรถยนต์และรถอีวี และประกันเดินทาง ที่ช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้กลับมาโตขึ้นสูงมากจากการเปิดประเทศ และ 4.ประกันออมทรัพย์แบบมีเงินปันผล

ซึ่งบริษัทมีโปรโมชั่นให้ลูกค้าผ่อนชำระไม่มีดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นการชำระเบี้ยใหม่หรือเบี้ยปีต่อ ยกเว้นยูนิตลิงก์ พร้อมทั้งมีเงินคืน และสามารถแลกพอยต์มาผ่อน 0% สูงสุดได้ถึง 10 เดือน” นายสุวัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 นี้ (ม.ค.-ต.ค.) ทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิตมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 486,600 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 0.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน