ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังดัชนีภาคการผลิตหดตัวเป็นเดือนที่ 6

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังดัชนีภาคการผลิตหดตัวเป็นเดือนที่ 6 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว ขณะที่ภาคธุรกิจยังกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/12) ที่ระดับ 34.82/84 บาท/ดอลลาร์สหัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/12) ที่ระดับ 34.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 44.6 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 46.4 ในเดือน พ.ย. ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

ดัชนี PMI ถูกกดดันจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ภาคธุรกิจลดความเชื่อมั่น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 46.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 31 เดือน จากระดับ 47.7 ในเดือน พ.ย. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 44.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 46.2 ในเดือน พ.ย.

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.8% ในไตรมาส 4 โดยต่ำกว่าระดับ 3.2% ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 20 ธ.ค.

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ก่อนที่มีการขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 3

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2565 และแนวโน้มว่า ในการประชุม กนง.ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.2% และจะค่อย ๆ ปรับขึ้นไปเป็น 3.7% ในปี 66 และเป็น 3.9% ในปี 67 โดยมองว่าเศรษฐกิจในปีนี้และช่วงปีถัด ๆ ไป จะมีแรงส่งที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน

กนง.ยังได้ประเมินว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ น่าจะไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านคน ส่วนในปี 66 ขึ้นไปอยู่ที่ 22 ล้านคน ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนนั้น เริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และรายได้ที่ปรับดีขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.75-34.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (19/12) ที่ระดับ 1.0599/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/12) ที่ระดับ 1.0615/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังมีแนวโน้มแข็งค่า หลังเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.8 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 47.8 ในเดือน พ.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0582-1.0649 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0644/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/12) ที่ระดับ 135.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/12) ที่ระดับ 137.21/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังสำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่า รัฐบาลเตรียมหารือกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เพื่อปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% โดยคาดว่าจะหารือกันเกี่ยวกับแนวทางการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้รวดเร็วขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หลังจากมีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เป็นเวลานานกว่า 10 ปี และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าญี่ปุ่นจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

แหล่งข่าวระบุว่า นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะหารือเกี่ยวกับรายละเอียดของเป้าหมายดังกล่าว ร่วมกับผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ซึ่งจะรับตำแหน่งต่อจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบัน ในเดือน เม.ย.ปีหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.76-136.61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 135.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.50/-12.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -20.00/-17.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ