ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวกรอบแคบ ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

เงินบาท

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ที่จะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเงินเฟ้อของสหรัฐนั้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/12) ที่ระดับ 34.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/12) ที่ระดับ 34.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตระกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.03% แตะที่ระดับ 104.73 นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ ในวันศุกร์ (23/12)

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE จะบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานจะเพิ่มขึ้น 5.5% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอจากระดับ 6.0% ในเดือนตุลาคม และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญ จะปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนตุลาคม

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 2 จุด สู่ระดับ 31 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางปี 2555 และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 โดยการร่วงลงของดัชนีความเชื่อมั่นมีสาเหตุจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และต้นทุนในการก่อสร้าง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยชี้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 และช่วงปีถัดไป จะมีแรงผลักดันที่สำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน โดยมองว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนนี้ จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกได้

โดย GDP อาจจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดได้ในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าได้แก่ต้นปี 2566 แต่ยังไม่สามารถเจาะจงได้ชัดเจนว่า จะกลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบภาวะปกติ (Policy Normalization) ได้ในช่วงใด เนื่องจากต้องขึ้นกับสถานการณ์ในปี 2566

พร้อมย้ำว่า หากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะ Smooth Take off ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับนโยบายการเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.76-35.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (20/12) ที่ระดับ 1.0597/1.0601 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/12) ที่ระดับ 1.0616/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลง แม้ว่าจะมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเยอรมนีโดยสถาบัน Ifo เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 88.6 ในเดือนธันวาคม สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 87.6 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0577-1.0651 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0611/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/12) ที่ระดับ 133.16/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/12) ที่ระดับ 136.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นหลังคณะกรรมการ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น ให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% หลังจากที่ BOJ รักษาจุดยืนในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Ultra-low Rate Policy) มาเป็นเวลานาน และจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสู่ 9 ล้านล้านเยน (6.75 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อเดือน จากปัจจุบันที่ 7.3 ล้านล้านเยนต่อเดือน

โดยมีเป้าหมายที่จะตรึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.26-137.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.21/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม Conference Board, ยอดขายบ้านมือสองเดือนพฤศจิกายน และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.25/-11.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -14.5/-11.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ