จีนเปิดประเทศ กรุงไทยคาด หนุนรายได้ท่องเที่ยวสะพัด 5 หมื่นล้าน ดันจีดีพี

กรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย ประเมินจีดีพีไทยปี’66 ขยายตัว 3.4% ชี้ ท่องเที่ยวเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คาดจีนเปิดประเทศหนุนรายได้ท่องเที่ยวสะพัด 5 หมื่นล้านบาท หนุนจีดีพีบวก 0.3% 

วันที่ 10 มกราคม 2565 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 3.4% โดยเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนจะเปลี่ยนจากภาคการส่งออกมาสู่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 22.5 ล้านคน

โดยภายหลังจากประเทศจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งจากเดิมคาดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาจำนวน 4 ล้านคน แต่หลังเปิดประเทศคาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8-5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 20% มองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อจีดีพีจากรายได้จากภาคท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% ของจีดีพี ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีมีโอกาสขยายตัวมากกว่า 3.4%

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามและอาจจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตได้ จะเป็นภาคการส่งออก เนื่องจากมีสัดส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างมาก โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ภาคการส่งออกส่งสัญญาณการเติบโตติดลบแล้ว ซึ่งกรณีหากการส่งออกหายไป 1% จะกระทบต่อจีดีพีลดลง 0.3% ทำให้เศรษฐกิจมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตลดลงจากเดิม โดยในปีนี้คาดว่าภาคการส่งออกจะเติบโตได้ที่ระดับ 0.7% จากปีก่อนที่ขยายตัว 7%

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ต้องจับตาและเฝ้าระวัง จะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำไปสู่ขาขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อสูงจะยังไม่หมดไป โดยเฉพาะในช่วงที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว จะเป็นตัวหนุนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ จากความต้องการภาคแรงงานและการบริโภค ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3.1% แม้ว่าปีนี้จะชะลอลงจากปีก่อนอยู่ที่ 6.1% แต่ยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 1-3%

ซึ่งจะเห็นธนาคารกลางยังคงมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น โดยของไทยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จาก 1.25% ในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 2% ในปี 2566 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) อาจอยู่ที่ 2.5% ในปี 2567 เพื่อเป็นการรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space)

และจากปัจจัยการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ 0.46% ต่อปี เต็มจำนวน ผนวกกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.แล้ว คาดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) จะขึ้นไปแตะระดับ 6.6% ในปีนี้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยอมรับว่ากระทบกลุ่มเปราะบาง แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นการปรับตามนโยบายมหภาค ส่วนระดับจุลภาคอาจจะต้องเข้าไปดูแล เพื่อให้นโยบายมีความสมดุลกัน

ดังนั้น ในปี 2566 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยไปอยู่ในจุดที่ไม่คุ้นเคย ภายใต้โลกใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะชะลอตัว เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการท่องเที่ยว การเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย และการเปลี่ยนผ่านท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น

“เราจะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่จุดที่ไม่คุ้นเคย ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ไม่เคยเกิด เพียงแต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา อย่างอัตราดอกเบี้ยต่ำแทบติด 0% ที่คุ้นเคยมานาน ปีนี้เราจะเริ่มเห็นระดับที่สูงขึ้น เงินเฟ้อที่เคยต่ำปีนี้ก็จะยังสูง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.00-5.25% ในครึ่งปีแรก และทรงตัวในระดับดังกล่าว ดังนั้น จากนโยบายการเงินตึงตัวจะเห็นค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.75-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

และส่วนการเปลี่ยนตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการส่งออกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามาเป็นภาคท่องเที่ยวในปีนี้จะราบรื่นหรือไม่ จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงหรือไม่ หรือการเปลี่ยนสู่สังคมไร้คาร์บอนที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนและมีความเข้มข้นมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญและภาคธุรกิจจะต้องตระหนัก เพื่อรับมือกับต้นทุนที่จะสูงขึ้น และให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

นายฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐ จะชะลอตัวจากการขึ้นดอกเบี้ย และยุโรปมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตพลังงาน แต่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศเหล่านั้น ยังมีทิศทางที่เข้มข้นมากขึ้น สะท้อนจากการตอกย้ำจุดยืนของประชาคมโลก รวมถึงประเทศไทยในเวทีการประชุม COP27 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับในปี 2566 ภาคธุรกิจต้องติดตามประเด็นด้านกฎเกณฑ์ที่สำคัญ อาทิ การเดินหน้าบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน หรือ CBAM ของยุโรป และแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Taxonomy ของประเทศไทย

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังต้องมองหาโอกาสจากนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น นโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่คาดหวังจีดีพีเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า และนโยบายการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติภายใต้แนวคิด “Better and Green Thailand 2030” โดยรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มจีดีพี 1.7 ล้านล้านบาท