แสงสว่างครั้งใหม่ จากการเปิดประเทศของจีน

จีน
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : กฤติกา บุญสร้าง, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย
        ธนาคารกสิกรไทย

การประกาศเปิดประเทศของจีน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา เหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย ด้วยแรงกดดันจากการประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปิดประเทศที่เร็วเหนือกว่าที่ทุกคนคาด จากเดิมที่หลายฝ่ายประเมินการเปิดประเทศจีนในช่วงกลางปีนี้

ผลที่ตามมาจากการเปิดประเทศและผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน แน่นอนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในจีนพุ่งขึ้นอย่างมาก แม้จีนจะมีการปรับรูปแบบการรายงานตัวเลขที่เกี่ยวข้อง แต่มีการประมาณการว่าชาวจีนติดเชื้อโควิดในช่วง 20 วันแรกของเดือนธันวาคม สูงถึง 250 ล้านคน ซึ่งดูสมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาประชากรจีนกว่า 1,400 ล้านคน ในขณะที่ชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงได้รับวัคซีนเนื้อตาย ไม่ใช่ mRNA และประชากรสูงอายุมากกว่า 80 ปี ได้รับวัคซีนเพียง 42% เท่านั้น

การแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ แม้ทางการปักกิ่งรายงานว่าการติดเชื้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ในระหว่างช่วงเวลานี้ แน่นอนว่าเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ภาคธุรกิจชะลอลงอย่างมาก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการที่หดตัวนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 ขณะที่การบริโภคภายในประเทศชะลอลง สะท้อนผ่านการนำเข้าและส่งออกที่หดตัวลึก และอาจเป็นเหตุให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเกิดภาวะสะอึกได้

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเปิดประเทศของจีน เมื่อพิจารณาผลลัพธ์ในระยะยาวถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เข้าตำรา “เจ็บแต่จบ” เนื่องจากโรคโควิด-19 เกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่สิ่งที่จะหายไปจากโลกใบนี้ เมื่อเราลืมตาตื่นขึ้นในวันพรุ่งนี้ หรือวันข้างหน้า แต่เราทุกคนจำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ต่อไป แบบไม่ประมาท และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในระยะข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้ การเปิดประเทศของจีนจึงได้รับการตอบรับที่ดีจากทั่วโลก สะท้อนจากค่าเงินหยวนที่ปรับมาแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่สิงหาคม 2022 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนที่กลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้งเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับสิงหาคมปีที่แล้วเช่นกัน จากการที่หลายฝ่ายมองข้ามภาวะการระบาดที่เกิดขึ้นในจีนช่วงนี้ไปแล้ว

ด้วยอานิสงส์จากมุมมองต่อจีนในอนาคตที่ดีขึ้นนี้ ส่งผลบวกต่อค่าเงินและตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงไทยด้วย ทำให้ ณ ปัจจุบัน ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าต่อเนื่อง สู่ระดับแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เมษายน 2022 และมีโอกาสจะอยู่ในฝั่งแข็งค่าตลอดทั้งปีนี้ เตรียมพร้อมรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคิดเป็น 27% ของจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน อุปสงค์การท่องเที่ยวที่อั้นไว้ในช่วงโควิด (pent up demand) และเงินทุนต่างชาติที่ไหลสะพัดเข้าประเทศไทย จากมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ซึ่งในภาพรวมจะสนับสนุนการใช้จ่ายของคนในประเทศ ผ่านรายได้ที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย