กรุงศรีฯ คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 33.20-33.80 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาท
ภาพจาก PIXABAY

กรุงศรีฯ คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.20-33.80 บาท/ดอลลาร์ ชี้ค่าเงินสหรัฐฟื้นตัวชั่วคราว

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (6-10 ก.พ.) ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.99 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 32.65-33.09 บาท/ดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากถึง 517,000 ตำแหน่งและอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 53 ปี โดยช่วงกลางสัปดาห์ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 4.50-4.75% ตามคาดและระบุว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารของประธานเฟดไม่ได้แข็งกร้าวมากเท่าที่ตลาดกังวล ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 50bp สู่ 2.5% ตามคาด และส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 50bp ในเดือน มี.ค. ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bp สู่ 4.0% ด้วยมติ 7-2 และส่งสัญญาณว่าบีโออีใกล้จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 8,994 ล้านบาท และ 41,666 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีฯ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับกระแสข่าวการเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คนใหม่ รวมถึงความเห็นของประธานเฟดที่ Economic Club of Washington, D.C.

โดยหลังการประชุม FOMC รอบล่าสุดประธานเฟดแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้โดยกล่าวว่าแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มลดลงแล้วและไม่กังวลกับภาวะการเงินที่ผ่อนคลายลง แต่ดอกเบี้ยจะยังคงต้องอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อยเพราะเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอลงในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างภาคบริการ และตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัวมาก

ท่าทีดังกล่าวถูกสนับสนุนโดยข้อมูลการจ้างงานเดือน ม.ค.ที่ออกมาสดใสเกินคาด อนึ่ง กรุงศรีฯมองว่าเงินดอลลาร์เข้าสู่รอบฟื้นตัวเพียงชั่วคราวขณะที่ตลาดทบทวนแนวโน้มดอกเบี้ยปลายทางของเฟดเหนือ 5.00% แต่ยังคาดว่าจะลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค.ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลงทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐาน ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย กรุงศรีฯประเมินว่าผู้ร่วมตลาดยังอาจปรับพอร์ตขายทำกำไรในสินทรัพย์สกุลเงินบาท สร้างความผันผวนต่อไปในระยะนี้