AISโชว์กำไร 2.6 หมื่นล้าน เคาะจ่ายปันผลอีก 4.24 บาทต่อหุ้น

AIS แจ้งผลประกอบการปี 2565 โกยรายได้ 185,485 ล้านบาท กำไรสุทธิ 26,011 ล้านบาท ตัวเลขผู้ใช้บริการมือถือเพิ่ม 1.9 ล้านราย ไฟเบอร์เพิ่ม 400,000 ราย สื่อนอกตีข่าว เตรียมตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 9 หมื่นล้านบาท 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 รายงานข่าวจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (ADVANC) หรือ เอไอเอส แจ้งผลประกอบการประจำปี 2565 มีรายได้รวม 185,485 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน (181,333 ล้านบาท) กำไรสุทธิอยู่ที่ 26,011 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน (26,922 ล้านบาท) เนื่องจากความท้าทายทางด้านต้นทุนในการดำเนินงาน ปัจจัยหลักมาจากในฝั่งของต้นทุนที่เจอความท้าทายจากราคาพลังงานและเงินเฟ้อ

แต่ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเหมาะสม ทำให้เอไอเอสมี EBITDA อยู่ที่ 89,731 ล้านบาท ลดลง 1.8% จากปีก่อน และมี EBITDA Margin แข็งแกร่งที่ระดับ 48% พร้อมจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการครึ่งปีหลังที่ 4.24 บาทต่อหุ้น 

โดยในปี 2565 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 46 ล้านเลขหมาย แสดงถึงจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านเลขหมาย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผู้ใช้บริการระบบเติมเงินเพิ่มขึ้น 859,000 เลขหมาย และผู้ใช้บริการระบบรายเดือนเพิ่มขึ้น 1 ล้านเลขหมาย

“แม้ว่าผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเบาบางลง แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคที่แย่ลง ตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ และผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่ยืดเยื้อจากปัจจัยกำลังซื้อผู้บริโภคลดต่ำลงในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อราคา ส่งผลให้ ARPU เฉลี่ยปรับตัวลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ARPU เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากฤดูกาลที่มีนักท่องเที่ยวขาเข้าและขาออกเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นนี้รวมถึงผลของความพยายามของเอไอเอสที่จะเพิ่มรายได้ที่ก่อให้เกิดกำไรในลูกค้าบางกลุ่มด้วย”

จำนวนลูกค้าเอไอเอสไฟเบอร์ยังคงรักษาแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ที่ 2.2 ล้านราย ณ สิ้นปี 2565 ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น 400,000 ราย หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีก่อน

“การเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการขยายการให้บริการครอบคลุมไปยังพื้นที่ชานเมืองมากขึ้น ด้วยราคาแพ็กเกจที่เข้าถึงได้ง่าย พร้อมกับประสบการณ์การเชื่อมต่อและคุณภาพการให้บริการที่ดี รวมถึงความพยายามในการรักษาลูกค้าเดิมเพื่อลดอัตราการยกเลิกการใช้บริการให้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาได้มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีจากการเสนอแพ็กเกจราคาต่ำในผู้ให้บริการทุกรายเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและหาลูกค้าใหม่ ส่งผลให้ ARPU ลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ฝั่งธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร สามารถสร้างการเติบโตได้ถึง 26% จากปีก่อน โดยในปีที่ผ่านมา AIS Business สามารถเชื่อมต่อการทำงานกับองค์กรภาคธุรกิจ ด้วยการส่งมอบเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่มุ่งสร้าง Digital Business Ecosystem ให้มีความสมบูรณ์แบบ

สื่อนอกตีข่าวเตรียมตั้งกองทุนโทรคมนาคม 9 หมื่นล้านบาท

บลูมเบิร์ก ได้รายงานก่อนหน้าการแถลงผลประกอบการต่อตลาดไม่กี่ชั่วโมง ว่า เอไอเอส กำลังพิจารณาตัวเลือกสําหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสาสัญญาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9 หมื่นล้านบาท) โดยตั้งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

หุ้นเอไอเอสพุ่งขึ้น 2.8% ในวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นระหว่างวันมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน  2565 หลังจากรายงานของบลูเบิร์กนิวส์ บริษัทมีมูลค่าตลาดประมาณ 17.7 พันล้านดอลลาร์

“นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ (ส.ค. 2564) ว่าเอไอเอสกําลังศึกษาแนวโน้มการระดมทุนโดยการแยก (Spin off) ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานเสาสัญญาณและสินทรัพย์อื่นออกมา โดยบริษัทเป็นเจ้าของเสาโทรคมนาคมประมาณ 22,000 แห่ง

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ตั้งแต่เสาโทรศัพท์ ไปจนถึงศูนย์ข้อมูล และดาวเทียมเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการใช้งานมากที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักลงทุนกระตือรือร้นที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพในการเติบโตของภูมิภาคแห่งนี้ และยังพยายามระดมทุนเพื่อขยายบริการอื่น รวมถึงการปรับใช้ 5G อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์ก ระบุทิ้งท้ายว่าประเด็นนี้ยังไม่มีการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด