LTF ที่ถือครบ 7 ปีปฏิทินแล้ว จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี ?

ตลาดหุ้นร่วง

ค(ร)บ (กันมา) 7 ปี แล้ว LTF ที่รัก…ไปต่อหรือพอแค่นี้?!!

มักมีคำถามที่มาปรึกษาและได้ยินบ่อยๆ ว่า “เดี๋ยว LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) จะครบ 7 ปีปฏิทินแล้ว จะเอาออกเลยดีไหม” หรือ “น่าจะต้องถือ LTF ต่อไปก่อน เพราะยังติดลบกันอยู่เลย” มาทบทวนกับ LTF ที่รักของเรากันก่อน

หนึ่งในประเภทของการลดหย่อนภาษีที่ฮอตฮิตที่สุดในช่วงกว่า 10 ปีก่อน แน่นอนว่าการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในรูปแบบของกองทุนรวมระยะยาว (LTF : Long-Term Fund) เป็นที่นิยมของบรรดาผู้เสียภาษีมาก เนื่องจากใช้สิทธิได้ถึง 15% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และแยกต่างหากกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) (จึงทำให้ผู้ลดหย่อนสามารถให้สิทธิเต็มที่ ได้รวม 1 ล้านบาท หากเงินได้ของผู้ใช้สิทธิลดหย่อนในปีภาษีนั้น มีรายได้เกิน 3,333,333.33 บาท)

นโยบายของกองทุนรวม LTF คือ เป็นการออมการลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) ไทย โดยนโยบายได้กำหนดว่า กองทุนรวม LTF ต้องมีสัดส่วนถือลงทุนในหุ้นไทย ไม่น้อยกว่า 65% ของเงินลงทุนในกองทุนรวมนั้น ๆ เพื่อตอบโจทย์ วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง LTF ประการหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และการสร้างวินัยการออมการลงทุนในระยะยาวโดยมีการลดหย่อนภาษีมาเป็นเครื่องมือจูงใจให้ลงทุนในระยะยาว นั่นเอง

ก่อนหน้านี้ หลักการของ LTF ซึ่งต้องการเน้นให้ถือลงทุนแบบระยะยาว ตามชื่อของ LTF แต่สำหรับคำว่า “ระยะยาว” ของนักลงทุนแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางคนมองยาว ๆ เป็น 10 ปี 20 ปีขึ้นไป บางคน 5 ถึง 7 ปี แต่สำหรับบางคน แค่ปี 2 ปี ก็ถือว่ายาวนานแล้ว

เป็นไปตามที่คาดการณ์ ช่วงแรก ๆ ที่กฎหมายได้มีการกำหนดเงื่อนไขการถือครอง (แค่) 5 ปีปฏิทิน โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของคณะกรรมการ ผู้ตรากฎหมายคงหวังใจให้ถือครองครบ 5 ปีเต็ม ๆ แต่ด้วยความที่เงื่อนไขมีช่องโหว่ในแง่ของระยะเวลาในการถือครอง (ที่เรา ๆ มักจะเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า) “ถือครองแค่ 3 ปีกับอีก 2 วัน ก็เอาเงินออกได้แล้ว” (ทั้งนี้หากเข้าซื้อกองทุน LTF ช่วงวันทำการสุดท้ายของปลายปีก่อนหน้า แล้วถือลืม ๆ ไปอีก 3 ปี และเมื่อย่างเข้าปีใหม่ วันทำการแรก ก็จัดการขายหน่วยออกเลย) อ้าวเป็นแบบนั้นไป!!! ซึ่งนั่นมันผิดวัตถุประสงค์ที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้

ถัดมาเมื่อปี 2559 มีการปรับเงื่อนไข เรื่องจำนวนปีที่ต้องถือครองก่อนขายออก จาก 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปีปฏิทิน เพื่อที่นักลงทุนต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปีเต็ม (กับอีก 2 วัน) และมีการประกาศเรื่องยกเลิกกองทุน LTF ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่สามารถจะซื้อ LTF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ (โดยหลังจากนั้น ปี 2563 ก็ได้มีการประกาศ ปรับเปลี่ยนกฎหมาย หลังจากยกเลิก LTF ไปแล้ว

โดยเปลี่ยนประเภทกองทุนในการลดหย่อนภาษี มาใช้เป็นกองทุนรวมเพื่อการออม 2 ประเภท ได้แก่ SSFX (Super Saving Fund Extra) และ SSF (Super Saving Fund) แทน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขจากเดิม LTF ถือครอง 7 ปีปฏิทิน ไปเป็น SSFX / SSF ต้องถือครอง 10 ปีเต็ม แบบวันชนวัน

ซึ่งความแตกต่างระหว่างกองทุน SSFX กับกองทุน SSF อีกประการหนึ่ง ตรงที่ SSFX นั้น มีการกำหนดระยะเวลาที่เสนอให้ผู้ต้องการลดหย่อนภาษีเข้าซื้อลงทุน SSFX ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 เฉพาะแค่ช่วง 3 เดือนนี้เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

และเป็นการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้แบบ Top-up เพิ่มต่างหากอีก 200,000 บาท (โดยแยกก้อนกับกัน RMF ที่ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท)

แต่สำหรับ SSF จัดเป็นหมวดกองทุนเพื่อการเกษียณ ซึ่งเป็นหมวดเดียวกันกับ RMF โดย SSF สิทธิในการคำนวณเพื่อลดหย่อน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

LTF ที่ถือมาครบ 7 ปี ไปต่อหรือพอแค่นี้?

ย้อนกลับไปที่คำถามตั้งต้น “LTF ที่ถือมาครบ 7 ปีปฏิทินแล้ว จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี?”

เงื่อนไขถือครองกองทุน LTF 7 ปีปฏิทิน ตามเกณฑ์ปี 2559 ถึงปี 2562

ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2559 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2565

ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2560 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2566

ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2561 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2567

ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2562 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2568

กรณีที่กองทุน LTF ที่เราถืออยู่ มีกำไรแล้ว จะพิจารณาได้ทั้ง 2 ทางเลือก ทั้งสามารถจะขาย LTF ได้ เนื่องจากเราได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีไปแล้ว หรือจะยังคงถือลงทุนต่อไปเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่ากำไรในระยะยาวต่อก็ได้

กรณีที่กองทุน LTF ที่เราถืออยู่ยังขาดทุน ถ้าเป็นที่ LTF ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล กรณีนี้ เราอาจต้องนำส่วนเงินปันผลที่เคยได้รับมาตลอดระยะเวลาที่ถือครองมาพิจารณาร่วมด้วย หากคำนวณรวมปันผลแล้วสามารถหักกลบที่ขาดทุนได้ เราจะพิจารณาขายหน่วยลงทุน LTF ออกมาก็ได้ หรือจะยังคงถือลงทุนต่อเนื่องต่อไปเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่มากกว่าในระยะยาวก็ได้

กรณีที่กองทุน LTF ที่เราถืออยู่ ยังขาดทุน หากเป็น LTF ที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล แต่เนื่องจากเราได้ปฏิบัติถูกต้องและครบตามเงื่อนไขและได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีไปแล้ว ประกอบกับ เมื่อพิจารณา Top 5 หรือ Top 10 Holdings หุ้นไส้ในที่กองทุนไปลงทุนอยู่รายตัวแล้ว ให้พิจารณาปัจจัยพื้นฐาน แนวโน้ม ภาพรวม ตัวชี้วัดของเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทย และเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคตมาประกอบกันด้วยแล้ว

ทางเลือกแรก ถ้าคาดการณ์ว่า (หุ้นไส้ใน) กองทุน อาจจะไม่สามารถทำ NAV สูงสุด คือไม่สามารถกลับมากำไรได้ (ความคิดเห็นส่วนตัว) เราอาจจะยอมขายขาดทุน (ในส่วนที่ยอมรับขาดทุนจริงๆ ได้) เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ (Reinvestment) หรือทำธุรกิจ (Business) น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดประโยชน์กับเรามากกว่า

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่ง คือ ทางเลือกที่ 2 ที่จะ (กัดฟัน) ถือต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึง สภาพคล่องที่เสียไป กับ เวลา (ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน) ที่คาดหวังว่า NAV จะกลับมาให้พอเห็นกำไรได้ ทั้งนี้ต้องมีปัจจัยแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลกในอนาคต จะต้องปรับไปในทิศทางที่ค่อนข้างดีมาก ๆ และอาจต้องใช้ระยะเวลาในการลงทุนที่นานพอสมควร เพื่อที่วัฏจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) ทำให้ธุรกิจกลับมากำไรได้อีกครั้ง

ข้อควรระวัง กำไรจากการขายหน่วย LTF เราต้องถูกนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินในการยื่นภาษีของปีที่ทำรายการขายหน่วยออกไป (Redemption) หากผู้ถือหน่วยปฏิบัติไม่ครบเงื่อนไขทางภาษีของสรรพากร

แนะนำให้จัดเก็บเอกสาร หรือสแกนไฟล์หลักฐานต่าง ๆ เก็บเอาไว้ให้ดีด้วย เผื่อถ้าหากสรรพากรเรียกขอดูหลักฐานภายหลัง

ฉะนั้น เราต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการประกอบกัน จึงตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองมากที่สุด โดยคำนึงถึงเป้าหมายทางการเงิน

ข้อมูลโดย “กฤษณา เพียรโอภาส” ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย