ทำไมปีนี้ตลาดหุ้นไทยไม่ขึ้นเหมือนตลาดหุ้นอื่น ?

หุ้น หุ้นไทย

‘ไพบูลย์ นลินทรางกูร’ นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ฉายภาพทำไมปีนี้ตลาดหุ้นไทยไม่ขึ้นเหมือนตลาดหุ้นอื่น พร้อมกาง 3 ปัจจัยหลักช่วย SET กลับสู่ขาขึ้น

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยโดยตั้งชื่อเรื่องไว้อย่างน่าสนใจว่า

ทำไมตลาดหุ้นไทยไม่ขึ้นเหมือนตลาดหุ้นอื่น ?

ตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นปี 2566 ด้วยผลงานที่ไม่ค่อยสวย ผ่านมาเดือนครึ่ง SET Index แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากปลายปีที่แล้ว ในขณะที่ตลาดหุ้นโลก (MSCI AC World Index) ปรับขึ้นไปแล้ว 7% และมีแค่ 10 ตลาดหุ้นในโลกเท่านั้นที่ดัชนีหุ้นไม่ได้ปรับขึ้นในปีนี้

ที่โดดเด่นที่สุดคือ ตลาดหุ้นอาร์เจนตินา (+24%) และอิตาลี (+15%) ในฝั่งเอเชีย ตลาดหุ้นที่ขึ้นมากที่สุดในปีนี้คือ เกาหลีใต้ (+10%) ไต้หวัน (+10%) และฮ่องกง (+7%)

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมตลาดหุ้นทั่วโลกถึงกลับมาร้อนแรงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับลดลงถึง 20% ในปีที่แล้วยังอยู่เกือบครบ

เหตุผลหลักคือเงินเฟ้อทั่วโลกที่ลดลงติดต่อกันหลายเดือน และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าหลายธนาคารกลางขนาดใหญ่มีโอกาสหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะเฟดที่ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วถึง 4.50% ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี อีกทั้งเริ่มมีความคาดหวังว่าเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้บรรยากาศการลงทุนคึกคักขึ้น

ตลาดหุ้นยังได้อานิสงส์การยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ส่งผลให้นักลงทุนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก ตัวเลขการว่างงานล่าสุดของสหรัฐที่ 3.4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 53 ปี ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจของนักลงทุน ล่าสุด IMF ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกขึ้นเป็น 2.9% ในปีนี้ (จากเดิม 2.7%)

อีกปัจจัยสำคัญคือสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ยังสูงมาก แม้เฟดจะเริ่มดึงเงินออกผ่านการทำ QT แล้วก็ตาม ทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าตลาดหุ้นอย่างก้าวกระโดด

คำถามที่ผมได้รับบ่อยมากในช่วงนี้คือ ทำไมตลาดหุ้นไทยถึงไม่ขึ้นเหมือนตลาดหุ้นอื่น

คำตอบคือตลาดหุ้นไทย outperform ตลาดหุ้นโลกเกือบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยไม่ใช่ตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มทำกำไรและโยกเงินบางส่วนออกจากตลาดหุ้นไทย หลังจากซื้อหุ้นไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 2 แสนล้านบาทในปี 2565

ผลประกอบการไตรมาส 4/2565 ของหลายบริษัทจดทะเบียนไทยที่ออกมาต่ำกว่าคาด คืออีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดให้ตลาดหุ้นไทย underperform ตลาดหุ้นโลก

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจอยากรู้ว่าตลาดหุ้นไทยยังลงทุนได้ไหม

ผมมองว่าหลายตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นในปีนี้ เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐ เป็นการขึ้นแบบชั่วคราว หรือ bear market rally ที่ได้แรงหนุนจากบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นและราคาหุ้นที่ปรับลดลงมากในปีที่แล้ว โอกาสที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังน่าจะเป็นไปได้ยากมาก เพราะเงินเฟ้อยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะลดลงสู่ระดับ 2-3% ในมุมมองผม ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลดดอกเบี้ยเฟดน่าจะเป็นต้นปีหน้า

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นก็ไม่น่าช่วยให้สหรัฐหลุดพ้นจากภาวะ recession ที่น่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังของปีนี้ เพราะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลดลงเรื่อย ๆ ของทั้งสองประเทศ

3 ปัจจัยหลักช่วย SET กลับสู่ขาขึ้น

ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุน 3 ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ SET Index กลับสู่ขาขึ้นในระยะถัดไปคือ

หนึ่ง การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งถ้าดูจากสถิติในอดีต จะพบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมักกระเตื้องขึ้นในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งตลาดหุ้นไทยมักอยู่ในขาขึ้น 3 เดือนก่อนเลือกตั้งด้วยเช่นกัน แน่นอนผลการเลือกตั้งคือตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป แต่ตราบใดที่ไม่มีความวุ่นวาย ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดตั้งรัฐบาลไม่นานมาก และรัฐบาลที่ได้เป็นรัฐบาลผสมที่มีเสถียรภาพ ทิศทางตลาดหุ้นไม่น่าเปลี่ยนแปลง

สอง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก เพราะจีนคือคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของไทย และถ้าจีนขยายตัวได้ในระดับ 5-6% ในปีนี้ เหมือนที่มีการคาดกัน การส่งออกของไทยก็มีโอกาสกลับมาขยายตัว ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เกิน consensus forecast ที่ 3.5%

สาม ทิศทางดอกเบี้ย เฟดที่มีแนวโน้มกลับสู่ขาลงในช่วงต้นปี 2566 จะส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงกลับมาเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในช่วงปลายปี ซึ่งตลาดหุ้นไทยจะได้อานิสงส์ไปด้วย

แน่นอน ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนคือแรงขับเคลื่อนราคาหุ้นที่มีอิทธิพลที่สุด ผมมองว่าหลายปัจจัยที่ส่งผลให้กำไรในไตรมาส 4/2565 ลดลงคือปัจจัยชั่วคราว หรือ one-off ผลประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ดูดีขึ้นเรื่อย ๆ