“ออมสิน” หัวแถวแบงก์รัฐ เปิดเกมรุกบริการดิจิทัล

พอเริ่มเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2560 ธนาคารออมสินก็เดินเกมมีการเปิดตัว “MyMo Pay” ทันทีถือว่าสร้างความฮือฮาให้กับลูกค้าธนาคารในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้ไม่น้อย เพราะการให้บริการ “รับ-จ่ายเงิน” ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย

เนื่องจากปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างจัดวางมาตรฐาน QR Code ในภาพรวมทั้งหมดอยู่

อย่างไรก็ดี “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกว่า เมื่อ ธปท.วางระบบเรียบร้อย ทางธนาคารออมสินก็จะนำระบบ QR Code ของธนาคารเข้าไปเชื่อมต่อได้ทันที ซึ่งระบบของ ธปท. น่าจะเรียบร้อยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

ดังนั้น บริการ MyMo Pay ของธนาคารออมสิน จึงมุ่งให้บริการเฉพาะลูกค้าของธนาคารออมสินที่มีบัญชีเงินฝากเผื่อเรียก (ออมทรัพย์) อยู่กับธนาคารนั่นเอง

ทั้งนี้ MyMo Pay ต่อยอดมาจากแอปพลิเคชั่น MyMo ที่ปัจจุบันธนาคารออมสินมีลูกค้าใช้บริการแล้ว 1.5 ล้านราย จากฐานลูกค้าทั้งธนาคารกว่า 20 ล้านราย หรือประมาณ 30 ล้านบัญชี โดยเมื่อลูกค้าคลิกในแอปพลิเคชั่น MyMo ก็จะเจอไอคอน MyMo Pay จากนั้นก็ให้คลิกเข้าไปที่ “Scan QR Code” ก็จะสามารถใช้ Scan ป้าย QR Code ที่ติดอยู่ที่ร้านค้า แล้วกดยืนยันการชำระเงินได้ทันที

“ถ้าลูกค้าเป็นร้านค้า จะสามารถสร้าง QR Code ของตัวเอง แล้วพรินต์มาติดในร้านได้เลย ซึ่งต้นทุนจะถูกกว่าเครื่องอีดีซีที่ไว้ใช้รูดบัตรเดบิต และบัตรเครดิตด้วย ส่วนลูกค้าทั่วไปก็สร้าง QR Code ของตัวเองได้เช่นกัน ซึ่งจะสามารถใช้รับโอนเงินจากคนอื่นได้” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีบริการ MyMo My Card ที่ให้ลูกค้าสามารถกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มได้ โดยไม่ต้องใช้บัตรเดบิต แต่สามารถใช้สมาร์ทโฟนที่มีแอปพลิเคชั่น MyMo สแกน QR Code ที่หน้าตู้เอทีเอ็ม แล้วทำธุรกรรมได้เลย

ความสะดวกสบายในการให้บริการเพิ่มขึ้นเหล่านี้ ทำให้ “ชาติชาย” มั่นใจว่า ฐานลูกค้าที่ใช้ MyMo จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากเปิดตัวอย่างอลังการที่ตลาดน้ำอัมพวาไปแล้ว ธนาคารก็จะขยายการใช้งาน MyMo Pay ไปยังตลาดอื่น ๆ ตลอดจนรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น ธนาคารออมสินก็ยังคงมีแผนขยายสาขา ซึ่งจุดนี้ถือว่าแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ที่พากันปิดสาขาลงเรื่อย ๆ

โดย “ชาติชาย” บอกว่า ปี 2560 นี้ ธนาคารมีแผนเปิดสาขาเพิ่มประมาณ 20-30 สาขา เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าหลายกลุ่มมากขึ้น โดยสาขาที่เปิดใหม่จะปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ รวมถึงการจัดโซนที่จะให้บริการธุรกรรมการเงินผ่านเครื่องมือดิจิทัล (Digitize Solution Zone) ทั้งเครื่องกดเงินอัตโนมัติ (ATM) เครื่องฝากเงินอัตโนมัติ (ADM) และเครื่องทำธุรกรรมทางด้านการเงินอัตโนมัติ (VTM) ซึ่งปีนี้จะเปิดตัวใน 5 สาขา แบ่งเป็น ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 4 สาขา และที่จังหวัดเชียงใหม่อีก 1 สาขา

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขาทั้งสิ้น 1,076 สาขา เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ที่มีอยู่ 1,056 สาขา โดยเป็นสาขาต่างจังหวัดจำนวน 915 สาขา ถือว่ามากที่สุดในกลุ่มธนาคาร

นอกจากนี้ “ชาติชาย” ตั้งเป้าหมายเงินฝากปีนี้เติบโต 1.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยถึงสิ้นปีน่าจะมียอดอยู่ที่ 2.25 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ออกหุ้นกู้ไป 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ขณะนี้สภาพคล่องของธนาคารมีถึง 3-4 แสนล้านบาทแล้ว

และนอกจากรุกเต็มที่ในด้านการให้บริการแล้ว ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 นี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อคงค้างเติบโตที่ 3% ซึ่งน่าจะทำได้ตามเป้า หลังจากครึ่งปีแรกทำได้ทะลุเป้าหมาย โดยยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้น มิ.ย. 2560 อยู่ที่ 1.97 ล้านล้านบาท เติบโต 4.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559

“ครึ่งปีหลังนี้สินเชื่อเราก็น่าจะโตตามเป้าหมายที่ 3% ภายใต้นโยบายการกระจายสินเชื่อในหลายกลุ่มมากขึ้น โดยเราลดสัดส่วนสินเชื่อครูลงเฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท” นายชาติชายกล่าว

โดยครึ่งปีหลังธนาคารจะเน้นการให้สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งโปรดักต์หลักที่จะให้บริการ คือ “SME ดีเวอร์” ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำแค่ 3.99% ต่อปี โดยตั้งเป้าหมายสิ้นปี 2560 สินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 110,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันธนาคารยังมีแผนเข้าร่วมประมูลสินเชื่อภาครัฐอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพื่อหวังกินส่วนแบ่งตลาดที่มีมูลค่าตกปีละ 200,000 ล้านบาทนี้

ทั้งหมดนี้เป็นการขยับอย่างรวดเร็วของธนาคารออมสินที่ถือเป็นหัวแถวของบรรดาแบงก์รัฐ 8 แห่ง