ไทยประกันชีวิต กำไรนิวไฮ 9.2 พันล้าน เคาะจ่ายปันผล 0.30 บาทต่อหุ้น

หุ้น IPO ไทยประกันชีวิต

ไทยประกันชีวิต ปี 2565 กำไรนิวไฮ 9,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.38% เบี้ยรับปีแรกโต 13% VONB พุ่ง 31% หลังเน้นขายสินค้าที่มีผลกำไรยั่งยืน ด้านบอร์ดอนุมัติจ่ายปันผล 0.30 บาทต่อหุ้น มูลค่า 3,435 ล้านบาท กำหนดสิทธิได้รับเงินปันผล 10 พ.ค.66

กำไรนิวไฮ 9.2 พันล้าน

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 9,265 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.38% เมื่อเทียบจากปี 2564 ซึ่งเป็นกำไรที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (Annual Premium Equivalent หรือ APE) อยู่ที่ 12,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%

ถึงแม้ว่าปีที่แล้วอุตสาหกรรมประกันชีวิตต้องเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับช่วงครึ่งปีแรกจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บริษัทยังคงมีผลประกอบการที่เข้มแข็ง

โดยผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญาหรือ Value of New Business (VONB) อยู่ที่ 7,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 31.17% โดยอัตรากำไรของ VONB หรือ VONB Margin ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (+8.01 จุด) และมีมูลค่าปัจจุบันของกรมธรรม์ (Embedded Value) อยู่ที่ 145,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.03% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของ APE และ VONB ในทุกช่องทางการขาย

จ่ายปันผล 0.30 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 ได้อนุมัติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 27 เม.ย.2566 พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,435 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 37.09% ของกำไรสุทธิประจำปี 2565 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท

โดยบริษัทได้กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 10 พ.ค.2566 ทั้งนี้การจ่ายเงินปันผลจะกระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการสำนักงาน คปภ. (นายทะเบียน) ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

“ความสำเร็จของผลกำไรในปีที่ผ่านมา สะท้อนการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ Multi-Channel และการพัฒนาสู่ดิจิทัลหรือ Digital Transformation ของบริษัท โดยช่องทางตัวแทนประกันชีวิต มีการพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลสำหรับการขายและการดูแลลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ

ได้แก่ แอปพลิเคชัน MDA PLUS รวมถึงมุ่งเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่มีผลกำไรที่ยั่งยืน ขณะที่ช่องทางพันธมิตรยังคงแข็งแกร่ง โดยบริษัทพัฒนาเครื่องมือการขายดิจิทัล และปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการขยายตลาดของพันธมิตร” นายไชยกล่าว

ผลตอบแทนลงทุน 3.79%

ด้านผลตอบแทนจากการลงทุน ถือว่าเพิ่มขึ้นจำนวน 325 ล้านบาท คิดเป็น 1.74% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลจำนวน 1,186 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับการเติบโตของพอร์ตการลงทุนด้วยเงินที่ได้มาจากการระดมทุนขายหุ้น IPO รวมถึงเม็ดเงินที่ได้มาจากการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นดังกล่าวถูกหักกลบด้วยการลดลงของกำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวน 502 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินลงทุนในต่างประเทศ และเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเป็นจำนวน 359 ล้านบาท

โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนเฉลี่ยที่ 3.79% ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนที่ยังคงรักษาระดับความมั่นคง รวมถึงการที่บริษัทนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นจะมีความผันผวน

เบี้ยรวม 8.8 หมื่นล้าน หดตัว 2.6%

แต่อย่างไรก็ตามเบี้ยประกันภัยรับรวมยังหดตัว 2.62% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ 88,082 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจากเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปลดลง 3,569 ล้านบาท คิดเป็น 4.91% ซึ่งเป็นผลมาจากกรมธรรม์บางส่วนที่มีการครบระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัยรับของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ที่ขายในช่วงก่อนหน้า และกรมธรรม์ที่ครบกำหนดสัญญา

ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับจากกรมธรรม์ใหม่ ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยรับปีแรก และเบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว มีจำนวน 18,899 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,197 ล้านบาท คิดเป็น 6.76% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยลักษณะของอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยรับใหม่ดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนในปีแรกสำหรับกรมธรรม์รายใหม่ ทำให้กำไรลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

เน้นขายสินค้าไม่อ่อนไหวกับดอกเบี้ย

สำหรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ บริษัทยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าแบบเฉพาะบุคคล ตามนโยบายยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างกำไรที่ดี และไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือ Participating Product ผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจได้

โดยปัจจุบันบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุน (CAR Ratio) แข็งแกร่งอยู่ที่ 420% (ณ เดือนธันวาคม 2565) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงาน คปภ.กำหนดไว้มาก