LH Bank เจาะกลุ่มไฮยีลด์ “รายย่อย-SMEs” หวังปั้นรายได้ค่าฟีโต 10%

ชมภูนุช ปฐมพร
ชมภูนุช ปฐมพร

ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank ประกาศแผนปี’66 หันรุกธุรกิจผลตอบแทนสูง เจาะกลุ่ม “รายย่อย-เอสเอีมอี” พร้อมปั้นรายได้ค่าฟีโต 10% ผ่านธุรกิจเทรดไฟแนนซ์-เพิ่มฐานลูกค้าไต้หวันหลังเห็นสัญญาณบวกจีนเปิดประเทศ ตั้งเป้าเติบโต 50-55% คาดพอร์ตคงค้างสิ้นปีแตะ 1.5 หมื่นล้านบาท เผยควักงบฯ 1.2 พันล้านบาท เร่งลงทุนพัฒนาระบบไอที-ดิจิทัล หนุนลูกค้าหันใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่ม 2-3 เท่า จากฐานลูกค้าที่มีอยู่ 1 แสนราย

วันที่ 2 มีนาคม 2566 นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank เปิดเผยว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2566 จากทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารจะให้ความสำคัญในการขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อปรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อจากเดิมที่มุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มขนาดใหญ่ แต่ให้ผลตอบแทนไม่สูง โดยปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อรวมราว 8-10%

โดยกลุ่มที่มุ่งเน้นมากขึ้นและให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) เช่น สินเชื่อรายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เช่น กลุ่มพนักงานประจำที่มีรายได้ระดับปานกลาง และเข้าไปในบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร หรือการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเอาแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาช่วย เพื่อสร้างผลตอบแทนมากขึ้น ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี จะเป็นกลุ่มขนาดกลางที่มียอดขายตั้งแต่ 100-500 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงไม่สูง

ขณะเดียวกัน ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตในเรื่องของรายได้ค่าธรรมเนียม (Fee Based Income) ที่ตั้งเป้าการเติบโต 10% โดยนอกจากการหาลูกค้าในกลุ่มนักลงทุนใหม่ ๆ ผ่านการขายกองทุน ในส่วนของธนาคารจะเน้นการขยายสินเชื่อในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เนื่องจากสัญญาณเปิดประเทศ ธนาคารเริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิต หรือธุรกรรม Trade finance มีสัญญาณการเติบโตเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีเรื่องของการส่งออกชะลอตัวก็ตาม สะท้อนการขยายตัวค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งจากปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างราว 1 หมื่นล้านบาท ภายในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นจากฐานลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ผ่านการแชร์ลูกค้าในกลุ่มไต้หวัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าไต้หวัน จะเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนในกลุ่มภาคการผลิต ปิโตรเคมี ซัพพลายเชน และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตลูกค้าไต้หวันอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท ภายในปี 2566 จะเพิ่มอีกราว 5,000 ล้านบาท หรือมีพอร์ตคงค้างอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 50-55%

“จากกลยุทธ์การมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูง จะทำให้พอร์ตสินเชื่อโดยรวมของธนาคารสมดุล (Balance) มากขึ้น ซึ่งจากเดิมรายใหญ่เยอะ ทำให้การสร้างรายได้น้อย เพราะเป็นลูกค้าดี เราจึงมีแผน 5 ปี หรือภายในปี 70 พอร์ตรายใหญ่จะเป็น 35% เอสเอ็มอี 35% และรายย่อย 30% ทำให้เราสามารถบริหารความเสี่ยงจากผลตอบแทนได้ดีขึ้น และเรามีเป้าหมายรายได้ค่าธรรรมเนียมภายใน 5 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า”

ส่วนทิศทางการเติบโตในส่วนของดิจิทัล ธนาคารมีการลงทุนและพัฒนาต่อเนื่อง โดยมีงบลงทุนราว 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ไปสู่ออนไลน์มากขึ้น ภายหลังจากมีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “LHB YOU” เพื่อเพิ่มช่องทางบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลให้กับลูกค้าให้ได้รับบริการด้านการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร และยังเป็นการขยายฐานลูกค้ารายย่อย โดยธนาคารตั้งเป้าสนับสนุนให้ลูกค้าใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าจากปัจจุบันมีฐานลูกค้าราว 1 แสนราย