ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ภายหลังอัตราว่างงานสูงกว่าคาดการณ์

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ภายหลังอัตราว่างงานสูงกว่าคาดการณ์ ส่งสัญญาณว่าภาคแรงงานสหรัฐอาจไม่ตึงตัวตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/3) ที่ระดับ 34.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 35.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 205,000 ตำแหน่ง แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 504,000 ตำแหน่ง ซึ่งถูกปรับลดจากการประกาศครั้งก่อนที่ระดับ 517,000 และอัตราว่างงานสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 3.6% เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะคงอยู่ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.4% ส่งสัญญาณว่าภาคแรงงานสหรัฐอาจไม่ตึงตัวตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

โดยปัจจัยดังกล่าวสนับสนุนให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอย่างแข็งกร้าว ล่าสุด CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนปรับเพิ่มน้ำหนักเป็น 81% ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 4.75-5.00 ในการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า (22-23/3)

นอกจากนี้ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซกส์ คาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปจากความไม่แน่นอนที่ยังไม่ชัดเจนและแรงกดดันที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารของสหรัฐ จากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดต่อไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท.เปิดเผยว่า ในเดือน ก.พ. 66 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิจากที่เคยซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุสำคัญมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ค่อนข้างมากจากภาคการส่งออกและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาครัฐที่ลดลง แม้การบริโภคภายในประเทศยังคงฟื้นตัวตามภาคบริการและท่องเที่ยว

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.46-34.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/3) ที่ระดับ 1.0723/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 1.0585/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และได้รับแรงหนุนภายหลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมันเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบรายปีตามที่ตลาดคาดการณ์ ส่งสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่มีสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจน

โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 จากระดับร้อยละ 3.00 สู่ระดับร้อยละ 3.50 ในการประชุมสัปดาห์นี้ (16/3) เพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0663-1.0730 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0692/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/3) ที่ระดับ 133.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 136.73/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (10/3) รัฐสภาญี่ปุ่นมีมติรับรองนายคาซูโอะ อุเอดะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ต่อจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ

นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ -0.10 และดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.96-134.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 133.06/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ. (14/3), ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.พ. (15/3), ดัชนียอดค้าปลีกเดือน ก.พ. (15/3),คำขออนุญาตสร้างอาคารเดือน ก.พ. (16/3), รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟียเดือน มี.ค. (16/3),รายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างเดือน ก.พ. (16/3), คำขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (16/3), รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. (17/3), รายงานดัชนีความเชื่อมั่นจากรัฐมิชิแกนเดือน มี.ค. (17/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap Point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.75/-11.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้อกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.75/-6.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ