“กรุงไทย” รุกดิจิทัลไม่หยุด ผนึก AIS ลุย Virtual Bank เต็มสูบ

ผยง ศรีวณิช
สัมภาษณ์

ต้องบอกว่า ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในยุคที่มี “ผยง ศรีวณิช” เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีการพัฒนารุดหน้าไปอย่างมาก แถมสถานการณ์โควิดระบาดที่ผ่านมา ยังเป็นตัวเร่งให้แบงก์ของรัฐแห่งนี้ก้าวกระโดดสู่ความเป็น “ดิจิทัล” อย่างรวดเร็ว ล่าสุด แผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปีฉบับใหม่ (2566-2570) ได้ถูกประกาศออกมา

7 ยุทธศาสตร์สู่ดิจิทัลแบงกิ้ง

โดย “ผยง” กล่าวว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องเจอพายุและแรงกระแทก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่กระทบซัพพลายเชนไปทั่วโลก ซ้ำยังมีแรงเหวี่ยงและความผันผวนของค่าเงินและดอกเบี้ย รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม (climate change) ที่ทำให้เกิดการประกาศเป้าหมาย net zero ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายทางการเงินปี 2566 สินเชื่อเติบโตที่ 3-5% ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 7 ด้านสำคัญ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีนี้ เพื่อเร่งขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่

ยุทธศาสตร์แรก เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์เดิม “X2G2X” ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ ทั้ง B2B B2C G2B และ G2C และมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และ digitalization ให้มีความทันสมัย ใช้งบฯลงทุนด้านไอทีเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี หลังจากปีก่อนใช้เงินไปเพียง 7,000-8,000 ล้านบาท

ปรับรูปแบบสาขาใหม่

“ผยง” กล่าวอีกว่า ต่อมา ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็น process digitalization โดยนำระบบ RPA หรือ robotic process automation และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น

“ภายใน 2-3 เดือนหลังจากนี้ จะเห็นรูปแบบสาขาใหม่ ซึ่งจะสามารถใช้ data ตอบโจทย์ลูกค้าได้ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เบื้องต้นสาขารูปแบบใหม่จะนำร่อง 20 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ พนักงานจะให้บริการผ่านแท็บเลต จะไม่มี high counter (ช่องบริการที่ให้บริการรับฝาก-ถอน ชำระค่าสินค้าบริการ ชำระเงินกู้ โอนเงินต่างธนาคาร ฯลฯ) และ low counter (ช่องบริการที่ให้บริการเปิดบัญชี ให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อ ฯลฯ) โดยเฉพาะ high counter จะต้องลดลงตามปริมาณธุรกรรมถอนเงิน ขณะเดียวกันลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้เองและจบที่แท็บเลต และจะเปลี่ยนช่องทางการให้บริการลูกค้ารายย่อยไปให้บริการผู้ประกอบการรายย่อย (SSME และ SMEs) มากขึ้น”

พนักงานต้องปรับตัว

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในลักษณะ agility (คล่องตัว) โดยอาศัยหลักการแบบ fail fast learn fast ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ ๆ (upskill/reskill) สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นองค์กรแห่งการสร้างผู้นำในอนาคต

“การเปิดปิดสาขายังคงมีอยู่ แต่ชะลอตัวลง เนื่องจากกรุงไทยยังคงต้องตอบโจทย์สังคม แม้ว่าสาขานั้น จะไม่มี profit (กำไร) เลย แต่ในพื้นที่ตั้งสาขาระยะห่าง 4 กิโลเมตรถ้าไม่มีสาขาธนาคารไหนให้บริการเลย เรายังคงต้องเปิดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่คน คือ หัวใจสำคัญ พนักงานจะต้องสามารถย้ายงานข้ามพื้นที่ได้ สามารถทำงานใหม่ได้ และสามารถทำงานตามธนาคารมอบหมายให้ได้ ซึ่งหากพนักงานสามารถทำตามเงื่อนไข 3 ข้อนี้ได้ ทุกคนจะยังมีงานทำ แต่ถ้าใครไม่พร้อมธนาคารจะมีโครงการเกษียณอายุโดยไม่ต้องปลดพนักงาน”

ชู Virtual Bank สร้างการเติบโต

ต่อมา ยุทธศาสตร์ที่ 6 จะเป็นสร้างการเติบโตในมิติใหม่พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร โดยธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเสริมเติบโตในระยะข้างหน้าในการสร้าง new growth engine จะมี 2 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) และ 2.ธนาคารไร้สาขา (virtual banking) ที่จะเดินหน้าควบคู่ไปกับพันธมิตรธุรกิจ

“ผยง” กล่าวว่า คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกหลักเกณฑ์ virtual banking ภายใน 2-3 เดือนนี้ จากนั้นธนาคารจะยื่นขอจัดตั้ง virtual bank คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในปีนี้

“ธนาคารต้องเตรียมพร้อม ซึ่งเรามีทั้งพันธมิตรและข้อมูลทางเลือก โดยมีความร่วมมือกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ virtual bank ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาร่วมกัน โดยทุนจดทะเบียนจะเป็นไปตามที่ ธปท.กำหนด คือ 5,000 ล้านบาท และทยอยเพิ่มทุนอีก 5,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่ ลงทุนในเรื่องของระบบ โดยเฉพาะระบบบริหารจัดการความเสี่ยง (risk management) ส่วนอื่น ๆ ธปท.กำหนดให้บางเรื่องสามารถจ้างบริษัทภายนอก (outsource) ได้ นอกจากนี้ ก็เป็นเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ

“ก่อนจะรับเงินฝากและปล่อยสินเชื่อให้ได้ scale จำเป็นต้องใช้ฐานเงินทุนที่มีอยู่ก่อน ซึ่งเบื้องต้นธนาคารจะเริ่มทดลองในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลัก (unsecure
loan) ก่อนแล้วค่อยขยายไปสินเชื่อประเภทอื่น โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ธนาคารบริการไม่ถึง เช่น กลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่รู้รายได้ชัดเจน”

ปักธงดันธุรกิจเวลท์ขึ้นท็อป 3

ส่วนธุรกิจ wealth management ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่งต้องเร่งลงทุน platform เพื่อพัฒนาสู่ wealth tech โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ทดลองลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เริ่มต้นจากการลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น หุ้นกู้ DR เป็นต้น

“ลูกค้า wealth จะมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.mass affluent 2.affluent และ 3.private bank ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ เราตั้งเป้าขึ้นเป็น top 3 ในตลาดธุรกิจนี้ ทั้งในแง่ฐานลูกค้า และสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM)”

ร่วมทุนบริหารหนี้-ช่วยลด NPL

สุดท้าย ยุทธศาสตร์ที่ 7 เร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ความพร้อมของระบบรองรับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และความเสี่ยงทางไซเบอร์ (cyber risk) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ตลอดจนการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และทรัพย์รอการขาย (NPA) ทำให้เป็นสินทรัพย์ที่สร้างมูลค่าในเวลารวดเร็วขึ้น ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมบริหารสินทรัพย์ (JVAMC) ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ และคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3 ปีนี้

“มีการคุยกับผู้สนใจอยู่ 3-4 ราย ซึ่งธนาคารไม่จำเป็นต้องร่วมมือกับรายใดรายหนึ่ง เนื่องจากแต่ละรายมีความเชี่ยวชาญคนละด้าน เช่น บางรายเก่งบริหารทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ หรือบางรายเก่งสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เป็นต้น ถือว่ามีความเป็นไปได้ทั้งหมด โดยแนวทางนี้จะช่วยลดหนี้ NPL และ NPA ลงได้ เพราะตอนนี้ของเราสูงกว่าระบบ ก็ต้องการให้ลงมาใกล้เคียงระบบ เช่น NPA อยากให้เหลือราว 2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบัน 4 หมื่นล้านบาท และ NPL เฉลี่ย 2.8% จากปัจจุบัน 3.3%”

ยกระดับ ROE เกิน 10%

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ตามแนวทาง ธปท. ที่เปิดกว้างใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.open infrastructure 2.open data และ 3.open competition จะส่งผลให้คู่แข่งเปลี่ยนจากผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) มาสู่ “แชลเลนเจอร์แบงก์”

ดังนั้น ภายใต้การดำเนินยุทธศาสตร์ 7 ด้าน จะช่วยให้ธนาคารกรุงไทยและบริษัทในเครือเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยจะเป็นการปรับฐานธุรกิจและเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ผ่านตัวเลขผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ภายใน 5 ปี ซึ่งคาดว่า ROE จะขึ้นไปมากกว่า 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 9-10%