เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์แตะเบรกสินเชื่อ รอลุ้นธปท.คลอดเกณฑ์คุมปล่อยกู้

ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แตะเบรกชะลอปล่อยสินเชื่อ รอดูเกณฑ์กำกับ ธปท. ชัดเจน “ฐิติกร” ชี้ครึ่งปีแรก “สุญญากาศ” ปรับแผนหันโฟกัสธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านก่อน ขณะที่ “สมหวัง เงินสั่งได้” เบนเข็มเจาะสินเชื่อทะเบียนรถแทนปล่อยกู้เช่าซื้อ ลุ้นแบงก์ชาติดึงเกณฑ์ “ปล่อยกู้ตามความเสี่ยงลูกค้า” มาใช้ ฟาก “ที ลีสซิ่ง” ชี้ธุรกิจปีนี้เน้นประคองตัว

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์มาตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกรรมเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยให้คิดได้ไม่เกิน 23% ต่อปี ซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา

ประพล ฐิติกร

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดแนวทางกำกับธุรกิจการให้เช่าซื้อและการเช่าซื้อแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์

“ตอนนี้ต้องรอดูรายละเอียดเกณฑ์การกำกับของ ธปท.ว่าจะเข้ามาคุมอะไรบ้าง และเกณฑ์จะออกมารูปแบบไหน ทำให้ช่วงนี้เป็นสุญญากาศของการทำธุรกิจ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนเพื่อปรับแผนธุรกิจให้สอดรับกับเกณฑ์ ความเสี่ยง และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” นายประพลกล่าว

เบื้องต้นตลาดมองกันว่า ธปท.อาจจะเข้ามาดูในเรื่องของหลักการให้บริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) รวมถึงอาจกำหนดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) โดยให้ลูกค้าจะต้องวางเงินดาวน์บางส่วน หรือเกณฑ์การกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) หรือการให้คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า (risk based pricing) จึงต้องรอดูกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน

“บริษัทจะชะลอการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ในไทย แล้วไปเน้นขยายการเติบโตในต่างประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดกัมพูชาที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง โดยบริษัทตั้งเป้าสินเชื่อเช่าซื้อในกัมพูชาเติบโตที่ 20% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 1,100 ล้านบาท ส่วน สปป.ลาวอาจจะขยายตัวไม่มาก เพราะตอนนี้ยังคงมีปัญหาเรื่องค่าเงินกีบที่มีมูลค่าลดลง” นายประพลกล่าว

ตร.เช่าซื้อจักรยานยนต์

ทั้งนี้ ภาพรวมยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งระบบของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตราว 10% หรือ 325,000 คัน โดยตลาดคาดว่ายอดขายทั้งปีจะอยู่ที่ 1.75 ล้านคัน หรือหดตัวราว 3% จากปีก่อนอยู่ที่ 1.8 ล้านคัน ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภาพรวมยังคงขยับขึ้น เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่สูง ทำให้กำลังในการผ่อนชำระลดลง

“ช่วงนี้เป็นสุญญากาศ ต้องรอดูเกณฑ์ ธปท.ชัดเจนก่อน จึงจะเริ่มกลับมาโตในประเทศ ระหว่างนี้เราจะขยายตัวในต่างประเทศ ครึ่งปีหลัง เกณฑ์ ธปท.ออกค่อยมาทำแผนการรุกตลาดอีกครั้ง เพราะตอนนี้จะเห็นผู้ประกอบการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเร่งปล่อยสินเชื่อก่อนเกณฑ์จะออกมา กับกลุ่มที่ชะลอการปล่อยสินเชื่อเพื่อรอดูความชัดเจน” นายประพลกล่าว

ขณะที่นายศุภชัย บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถ “สมหวัง เงินสั่งได้” กล่าวว่า ปีนี้ค่ายผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ประเมินยอดขายทรงตัว หรือลดลงอยู่ที่ 1.75-1.8 ล้านคัน ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน รวมถึงการกำกับธุรกิจเช่าซื้อของ ธปท.ที่จะเข้ามาคุม ทั้งผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) จึงสร้างความกังวลให้ตลาด

“เชื่อว่า ธปท.จะพยายามรักษาสมดุลในเรื่องของการให้บริการอย่างเป็นธรรมกับประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งตลาดประเมินกันว่า ธปท.จะนำหลักเกณฑ์ risk based pricing มาใช้กับธุรกิจเช่าซื้อซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการอาจจะคิดดอกเบี้ยเกินเพดาน 23% ต่อปีได้ แต่จะต้องแจ้ง ธปท.ได้ว่าลูกค้ากลุ่มไหน หน้าตาเป็นอย่างไร อาชีพ และเงื่อนไขอื่น ๆ ซึ่งมีโอกาสคิดดอกเบี้ยที่ตอบโจทย์ในกรอบ 23-33% ต่อปี” นายศุภชัยกล่าว

อย่างไรก็ดี “สมหวัง เงินสั่งได้” ก็ต้องรอดูกรอบของ ธปท.ว่าการควบคุมจะเข้มข้นเพียงใด ประกอบกับเกณฑ์ของ สคบ.ก็ทำให้ในปีนี้บริษัทจะหันมาเน้นสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ เพราะคนที่ซื้อรถใหม่จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีรถเก่า โดยบริษัทตั้งเป้าสินเชื่อทะเบียนรถเติบโต 10-15% จากเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการขยายสาขาเพิ่มถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าจะมีสาขาอยู่ที่ 650 แห่ง

“หากดูภาพรวมยอดขายรถใหม่ 3 เดือนแรกปีนี้ถือว่าค่อนข้างนิ่ง ถ้าเทียบช่วงปกติในช่วงเดือนที่ 1-3 จะเป็นช่วงฤดูขาย” นายศุภชัยกล่าว

นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด และในฐานะอุปนายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2566 ยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง โดยบริษัทจะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้รถจริง ผ่านการคัดกรองระบบสกอริ่ง และพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก โดยพยายามรักษาการเติบโตไว้เท่าเดิม ไม่ขยายตัวมากขึ้น