เสี่ยป๋อง-บอยท่าพระจันทร์ ติดโผผู้ถือหุ้นใหญ่ MGC

เสี่ยป๋อง-บอยท่าพระจันทร์

เสี่ยป๋อง-บอยท่าพระจันทร์ ติดโผผู้ถือหุ้นใหญ่ MGC อันดับ 8-9 ส่วนภรรยาของเสี่ยป๋องผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 7

วันที่ 26 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ทางบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) MGC-ASIA ได้นำหุ้น MGC เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เป็นวันแรก โดยราคาเปิดอยู่ที่ 8.45 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท เหนือจอง 6.29% จากราคาไอพีโอ 7.95 บาท

เบื้องต้น “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ได้ตรวจสอบอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 รายแรก พบว่ามีเซียนหุ้นชื่อดังติดโผอยู่ด้วยกัน 2 ราย คือ 1.นายวัชระ แก้วสว่าง (เสี่ยป๋อง) โดยถือครองหุ้นอยู่จำนวน 12.05 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.08% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 8

2.นายอรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย (บอย ท่าพระจันทร์) ถือครองหุ้นอยู่จำนวน 12.02 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.07% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 9

นอกจากนี้พบว่า นางโสภิศ แก้วสว่าง ภรรยาของเสี่ยป๋อง ยังถือครองหุ้นอยู่จำนวน 12.49 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.12% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 7 อีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับผู้ถือหุ้นอันดับ 1-6 คือ 1.บริษัท ธรรม โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน 571.20 ล้านหุ้น สัดส่วน 51% 2.MGC Investment Holdings Limited จำนวน 112 ล้านหุ้น สัดส่วน 10% 3.นางรัตนา ธรรมชวนวิริยะ จำนวน 45.25 ล้านหุ้น สัดส่วน 4.04%

4.ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ จำนวน 37.18 ล้านหุ้น สัดส่วน 3.32% 5.นางสาวเจิดนภางค์ ธรรมชวนวิริยะ จำนวน 37.18 ล้านหุ้น สัดส่วน 3.32% 6.นางสาวศุกลกานต์ ธรรมชวนวิริยะ จำนวน 12.49 ล้านหุ้น สัดส่วน 3.32%

ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นิยามหุ้น MGC ว่า “หุ้น MGC จะเป็นหุ้นที่ค่อนข้าง unique เพราะเป็นส่วนผสมของแบรนด์พันธมิตรระดับโลก ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และธุรกิจของเรายังสะท้อนถึง Lifestyle Mobility ซึ่งมีฐานลูกค้าที่มีเอกลักษณ์และมีสถานะ Independent ค่อนข้างสูง”

3 เหตุผลนำ MGC เข้าตลาดหุ้น

“ดร.สัณหวุฒิ” เล่าย้อนว่า เดิมมิลเลนเนียม กรุ๊ปฯ ไม่ใช่บริษัทแรกที่คิดจะนำเข้าตลาดหุ้น โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยมีแผนจะนำบริษัท มาสเตอร์ คาร์ เร้นเทิล (MCR) ที่เป็นบริการเช่ารถยนต์และคนขับ เข้าตลาดหุ้นก่อน เนื่องจากรถเช่าองค์กร (Fleet) ขยายตัวมาก ทำให้ส่วนทุนจำเป็นจะต้องขยายตามไปด้วย ไม่อย่างนั้นหนี้สินต่อทุน (D/E) จะสูง แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนแผน เพราะสามารถหาเงินทุนได้ กระทั่งปัจจุบันตัดสินใจนำ MGC เข้าตลาดหุ้น ด้วย 3 เหตุผลหลัก

คือ 1.บริษัทได้ร่วมทุนกับ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ทำธุรกิจการเงินผ่านบริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X) ให้บริการทางการเงินครบวงจร ครอบคลุมสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับยานยนต์และมารีนในระดับลักเซอรี่ ซึ่งธุรกิจพวกนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนในการขยายกิจการค่อนข้างสูง

2.ต้องการขยายธุรกิจให้บริการหลังการขายและให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ โดยมีแผนขยายเอาต์เลต MMS Bosch Car Service เพิ่มค่อนข้างมาก และ 3.ต้องการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตทางด้านยอดขาย

“เราเชื่อว่าหลังเข้าตลาดหุ้นแล้วจะทำให้เราเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นได้มากขึ้น จากเดิมที่ควักเงินส่วนตัวลงทุนเองและกู้ยืมเงินจากแบงก์ ซึ่งจะทำให้เราโตแบบก้าวกระโดด เพราะสามารถขยายธุรกิจได้ทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่เรากำลังสร้างเนื้อสร้างตัว กำลังลุยขยายกิจการ”

โดยจุดแข็งของ MGC คือ การมีธุรกิจที่ครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายใต้อีโคซิสเต็ม Lifestyle Mobility ทั้งทางบก (รถยนต์, บิ๊กไบก์) ทางน้ำ (เรือยอชต์, เรือแม่น้ำ) ทางอากาศ (ให้เช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว VistaJet, ตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารสายการบินชั้นนำ)