SCB จ่อหาพันธมิตรแชร์ต้นทุนเอทีเอ็ม-ดันลูกค้าใช้ดิจิทัลชดเชยรายได้ค่าฟี

ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงต่อเนื่อง รับแบกต้นทุนเอทีเอ็มสูงสวนทางการทำธุรกรรม ชี้มีการพูดคุยกับสมาคมธนาคารไทยแนวทางเก็บค่าฟี-ตู้เอทีเอ็มสีขาว พร้อมเร่งผลักดันลูกค้าใช้ SCB EASY-หาพันธมิตรแชร์ต้นทุน

วันที่ 27 เมษายน 2566 นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหนี้บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมจะเห็นว่าลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งแนวทางการปรับโครงสร้างรายได้ธรรมเนียม จึงต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เนื่องจากค่าธรรมเนียมมีหลายตัว โดยธุรกรรมอะไรที่สามารถสร้างมูลค่า และเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าได้ และสามารถอธิบายให้ลูกค้ายอมรับการเรียกเก็บได้

อย่างไรก็ดี แนวทางการปรับโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมภายใต้รอยต่อการขยับเข้าสู่โลกดิจิทัลและสังคมไร้เงินสด (Cashless) ยอมรับว่ามีทั้งลูกค้าที่ยังปรับตัวไม่ได้และใช้เงินสดอยู่ และก็มีบางกลุ่มที่พร้อมเข้าสู่ดิจิทัล ดังนั้น ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องเก็บรักษาโครงสร้างค่าธรรมเนียมแบบเดิมไว้ ซึ่งก็เป็นต้นทุนจำนวนมหาศาล เช่น ต้นทุนของเครื่องเอทีเอ็ม ซึ่งมีทั้งต้นทุนการดูแลรักษา รวมถึงการลงซอฟต์แวร์ป้องกันภัยทางการเงิน ซึ่งมีต้นทุนในการลงทุนระบบค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับการทำธุรกรรม (Transaction) จริงของลูกค้าในปัจจุบัน

ดังนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงสมาชิกธนาคารสมาคมธนาคารไทย (TBA) ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางโครงสร้างธรรมเนียม โดยมีแนวคิดการทำตู้เอทีเอ็มสีขาว (White Label ATM) ซึ่งธนาคารพยายามดูอยู่ อย่างไรก็ดี มองว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก

ซึ่งในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ มองการบริหารรายได้ค่าธรรมเนียมออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1.พยายามให้ลูกค้าเข้ามาใช้ดิจิทัลมากที่สุด โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้ง ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้ SCB EASY ราว 16-17 ล้านคน และ 2.การเจรจาหาพันธมิตรซึ่งเป็นสถาบันการเงินด้วยกัน โดยจะทำงานร่วมกันเพื่อแชร์ต้นทุนร่วมกันและมีการเฉลี่ยเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการร่วมกันเป็นระบบเดียว ซึ่งดำเนินการโดยที่ไม่รอให้ครบทุกธนาคาร อย่างไรก็ดี แนวทางสำคัญธนาคารยังคงเน้นเรื่องของการผลักดันลูกค้าเข้าสู่ดิจิทัลมากที่สุดเป็นอันดับแรก

“เราต้องเข้าใจว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงของรอยต่อของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยการเก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการในบางธุรกรรมนั้น จะต้องยึดหลักของความสมเหตุสมผล ที่สามารถอธิบายให้ผู้ใช้บริการเข้าใจได้ อาทิ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบริการในรูปแบบพิเศษเพื่อความสะดวกมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าโดยรวม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มองหารายได้อื่นที่จะเข้ามาทดแทนด้วย อาทิ ธุรกิจกลุ่มเวลธ์ หรือแบงก์แอสชัวรันซ์ที่มองว่าจะเติบโตดีในปีนี้”