สหรัฐเผยดัชนีภาคการผลิตดีกว่าคาด หนุนดอลลาร์แข็งค่า

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

สหรัฐเผยดัชนีภาคการผลิตดีกว่าคาด หลังดัชนีดีดขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐมีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หนุนเงินดอลลาร์แข็งค่า ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.7% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/5) ที่รดับ 34.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (27/4) ที่ระดับ 34.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.49% แตะที่ระดับ 102.1527 หลัง ISM เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐในวันจันทร์ (1/5) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.1 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 46.3 ในเดือน มี.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 46.8

และ เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.2 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 49.2 ในเดือน มี.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.4

ทั้งนี้ ดัชนีดีดขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐมีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นอกจากนั้นเมื่อวันศุกร์ (28/4) ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญ โดยดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวจากระดับ 5.1% ในเดือน ก.พ.

แต่ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.5% แต่ชะลอตัวจากระดับ 4.7% ในเดือน ก.พ.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% และให้น้ำหนักเพียง 14.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.0%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ประกอบับมีแรงหนุนจากข้อมูลการส่งออกของไทยที่หดตัวน้อยกว่าคาดในเดือน มี.ค. 2566 และตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในเดือน มี.ค. 2566 ที่บันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 4.78 พันล้านดอลลาร์

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 3,956 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็นไทย Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตร 4,389 ล้านบาท ทั้งนี้ ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.125-34.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.20/2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/5) ที่ระดับ 1.0973/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสดี (27/4) ที่ระดับ 1.1047/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังการเปิดเผยข้อมูลการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในยูโรโซนในไตรมาสแรกของปี 2566

โดยสำนักงานสถิติของยูโรโซน (Eurostat) เปิดเผยในวันศุกร์ (28/4) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซน ขยายตัว 0.1% ในไตรมาส 1/2566 จากไตรมาสก่อนหน้า เทียบกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ที่การขยายตัว 0.2% และเมื่อเทียบรายปี GDP ของยูโรโซนขยายตัว 1.3% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.4%

นอกจากนั้นนักลงทุนจับตามองการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีนี้ (4/5) โดยนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า ECB อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 3.25% ในการประชุมครั้งนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0958-1.1006 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0954/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/5) ที่ระดับ 137.48/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/4) ที่ 136.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 27/28 เม.ย. โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control porgram) รวมทั้งคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% โดยเปิดโอกาสให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ดังกล่าวเคลื่อนไหวได้ภายในกรอบ -0.5% จนถึง 0.5% ตามเดิม

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับสัญญาณชี้นำล่วงหน้า (Forward Guidance) เกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายในอนาคต และได้ตัดสินใจที่จะใช้การทบทวนนโยบายการเงินในภาพรวมวงกว้าง (Broad-perspective Review) โดย BOJ ได้ยกเลิกการระบุถึงความจำเป็นการปกป้องเศรษฐกิจจากความเสี่ยงของโรคโควิด-19 และยกเลิกการระบุว่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าระดับปัจจุบัน

นอกจากนี้ BOJ จะทำการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินในช่วงที่ผ่านมา โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.33-137.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 137.46/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มี.ค. (2/5), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน เม.ย. (3/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (3/5), ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (3/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (4/5), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน มี.ค. (4/05) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย. (5/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.50/-10.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -12.00-10.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ