แบงก์เร่งเครื่องพัฒนาแอป ขีดเส้นไตรมาส 2 ยกระดับ-สกัดกลโกง

ฐากร ปิยะพันธ์

ช่วงนี้บรรดาสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังสาละวนกับการให้ลูกค้าที่ใช้งานโมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชั่น นำบัตรประจำตัวประชาชนเข้าไปอัพเดตข้อมูล พร้อมถ่ายภาพใบหน้าเก็บไว้ ตามแผนการยกระดับความปลอดภัย

ด้วยการ “สแกนใบหน้าเพื่อทำธุรกรรม” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย กำหนดไว้ ในกรณีทำธุรกรรมเข้าตาม 3 เงื่อนไขคือ โอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทต่อครั้ง หรือสะสม 200,000 บาทต่อวัน หรือปรับเพิ่มวงเงินรายวัน

โดย “ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ทีทีบีมีลูกค้าราว 1 ล้านรายที่ต้องมาอัพเดตข้อมูลที่สาขา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวอาจจะมีเพียง 4-5 หมื่นรายที่ทำธุรกรรมโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง โดยค่าเฉลี่ยฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะโอนอยู่ที่ราว 3,000-4,000 บาทต่อรายการ ทั้งนี้ แอป “ttb touch” จะต้องพัฒนาให้รองรับตรงนี้ให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2566 นี้

“หลังจากที่เราทำตามไทม์ไลน์ชุดมาตรการ ซึ่ง ธปท.จะมีการประเมินแบงก์อีกทีนั้น น่าจะหมายถึงว่าประสบการณ์ของลูกค้าเป็นยังไงบ้าง และฝั่งธนาคารเห็นปัญหาอะไรบ้าง อย่างเช่น การใช้หน้าพิสูจน์ แต่ทำได้ช้า หรือทำไม่ผ่านจะมีประเด็นอะไรมั้ย และในส่วนลูกค้าก็ต้องเน้นย้ำเรื่องการสื่อสาร ทำความเข้าใจให้มากขึ้น”

นอกจากนี้ ธนาคารจะมีการปรับและพัฒนาฟีเจอร์บนโมบายแบงกิ้งเพิ่มเติม ทั้งเรื่องการขอสินเชื่อออนไลน์ (digital lending) สำหรับลูกค้าใหม่ รวมถึงอีกหลายฟีเจอร์ที่จะเน้นบริการที่ลูกค้าทำด้วยตัวเองได้ (self service) เช่น การขอเอกสารและธุรกรรมทางการเงิน (E-document), การจองคิวใช้บริการสาขาล่วงหน้า, การระงับเช็คสั่งจ่าย, การซื้อขายกองทุนที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น, การดูข้อมูลประกันที่ซื้อไว้ และสามารถซื้อประกันประเภทต่าง ๆ ผ่านแอปได้มากขึ้น ตลอดจนการขายรถยนต์ โดยเชื่อมกับพันธมิตร (partnership) ของ “ttb drive”

“ฐากร” กล่าวว่า ตั้งเป้าฐานลูกค้าใหม่บน “ttb touch” จำนวน 1.5 ล้านคน จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการแล้ว 5 ล้านราย คาดภายในสิ้นปี 2566 จะมีลูกค้าใช้ “ttb touch” เพิ่มขึ้นเป็น 6.5 ล้านราย จากฐานลูกค้ารวมของธนาคารทั้งหมดอยู่ที่กว่า 10 ล้านราย

ขณะที่ “ปรัศนี อุยยามะพันธุ์” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้ดำเนินการให้ลูกค้าเข้ามาอัพเดตข้อมูลและเก็บภาพใบหน้ามาตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วกว่า 70-80% ของฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้งที่มีอยู่ 12 ล้านคน ถือว่าค่อนข้างมาก และคาดว่าจะเริ่มใช้การสแกนหน้าเพื่อโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปภายในเดือน พ.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังพัฒนาระบบตรวจจับธุรกรรมทางการเงิน ทั้งขาเข้า-ขาออกที่เข้าข่ายมีความผิดปกติ เช่น การโอนเงินถี่ ๆ หรือทำธุรกรรมการเงินในประเทศและต่างประเทศพร้อมกัน ซึ่งอาจเข้าข่ายโดนโจรกรรมได้ โดยธนาคารจะมีระบบแจ้งเตือน (alert) เพื่อป้องกันในเชิงรุก นอกจากจะช่วยป้องกันการสูญเสียจากการโจรกรรม และป้องกันบัญชีม้าตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก) ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่สามารถอายัดบัญชีได้ชั่วคราว

“การพัฒนาบริการและฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในช่วงไตรมาส 2/2566 อาจจะล่าช้าออกไปบ้าง เนื่องจากธนาคารต้องมุ่งเน้นในเรื่องของมาตรการป้องกันภัยทางการเงินตามที่ ธปท.กำหนด ซึ่งเราสามารถทำตามกำหนดการของ ธปท.ได้ โดยให้ลูกค้าเก็บภาพยืนยันตัวตนผ่านช่องทางสาขา รวมถึงมีการส่งข้อความให้ลูกค้าที่ยังไม่ได้มีการเก็บข้อมูลให้มาอัพเดตข้อมูลก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งโชคดีเรามีการเก็บข้อมูลไว้ตั้งแต่ลูกค้าเปิดบัญชี จึงคืบหน้าไปได้เยอะพอสมควร”

ด้าน “ชาลี อัศวะธีระธรรม” รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน digital banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ SCB EASY App จะมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการบนอุปกรณ์ android โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันการโจรกรรมจากมิจฉาชีพ อย่างเช่น เพิ่มระบบตรวจเช็กแอปที่ไม่น่าเชื่อถือ ที่เปิดใช้โหมด accessibility service ซึ่งเป็นโหมดที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานเครื่องแทนเจ้าของเครื่อง ในขณะที่มีการเปิดใช้แอป SCB Easy โดยจะมีเสียงจากมือถือแจ้งเตือนลูกค้าทันที ให้ “ปิด” accessibility service ก่อน จึงจะเริ่มเข้าใช้งาน Easy App ได้

นอกจากนี้ ยังเพิ่มการป้องกันการเข้าควบคุมมือถือผ่านสาย USB โดยหากลูกค้าที่ใช้อุปกรณ์ android เปิดโหมด “USB debugging” จะไม่สามารถเข้าใช้งาน EASY App ได้ จนกว่าจะปิดการใช้งานโหมดนั้น รวมถึงอยู่ระหว่างกำลังพัฒนามาตรการป้องกันภัยไซเบอร์เพิ่มเติมตามที่ ธปท.กำหนด ซึ่งปัจจุบันลูกค้าทยอยเข้ามาอัพเดตข้อมูลในการยืนยันตัวตนที่สาขากันต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน SCB EASY มีผู้ใช้งานราว 16 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2566 จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน ดังนั้น ธนาคารจึงมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงความปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ใช้บริการอย่างมั่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้น

“ในช่วงไตรมาสที่ 2 เรายังเร่งพัฒนาและยกระดับในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานของ SCB EASY ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องไปกับแผนของ ธปท.”